'สมาคมนักวางแผนการเงินไทย' หรือ TFPA จับมือ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ร่วมผลักดันสร้าง "ทักษะความรู้ทางการเงิน" หรือ Financial Literacy (FinLit) ให้ประชาชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้าง "หมอหนี้เพื่อประชาชน" โดยส่งนักวางแผนการเงิน CFP(R) และที่ปรึกษาการเงิน AFPT(TM) ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เข้าอบรมหลักสูตรหมอหนี้ฯ กับแบงก์ชาติ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการแก้หนี้อย่างยั่งยืนสามารถให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง เพื่อแก้หนี้แก่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association - TFPA) หรือ TFPA เปิดเผยว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่มีแนวโน้มแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2567 โดยพบว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เติบโตเร็วสุดในรอบทศวรรษ และกว่า 50% ของกลุ่มคนที่เริ่มต้นทำงาน (อายุ 25-29 ปี) เป็นหนี้เร็ว และ 25% ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย ปัญหานี้เป็นอุปสรรคต่อเนื่องไปถึงการที่คนไทยจะเกษียณอย่างมีความสุข เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ปรากฏว่ามีคนไทยเพียง 15.7% เท่านั้นที่มีการเตรียมตัววางแผนเพื่อการเกษียณ ดังนั้น หากปัญหาหนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้
แบงก์ชาติและสมาคมนักวางแผนการเงินไทย จึงได้หารือร่วมกันถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้แก่ประชาชน โดยเสริมสร้างให้ประชาชนมีทักษะความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปกป้องตนเอง รู้เท่าทัน กลโกงที่ล่อลวงให้ลงทุนอย่างไม่ถูกกฎหมาย ตลอดจนการสร้างตัวช่วยแก้หนี้หรือหมอหนี้ผ่านการอบรมหมอหนี้ฯ ให้กับนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อนำความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน ช่วยให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาหนี้แก่ประชาชน ซึ่งแบงก์ชาติเห็นว่านักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาทางการเงิน AFPT เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินในระดับที่จะต่อยอดเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ได้
จากความร่วมมือในครั้งนี้ แบงก์ชาติได้จัดอบรมโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน (ระดับกลาง) ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเงินระดับสูง เช่น การอบรมความรู้เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยและดอกเบี้ย, ข้อมูลเครดิตบูโร, กฎหมายเกี่ยวข้องกับหนี้, ขั้นตอนการแก้หนี้, การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และมาตรการและช่องทางการแก้หนี้ เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความรู้สำหรับการเป็นหมอหนี้ฯ ให้กับสมาชิกสมาคมฯ โดยจัดอบรมรุ่นแรกเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 16 และ 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีผู้ตอบรับเข้าอบรมเต็มจำนวนที่เปิดรับ 50 ราย และมีผู้ลงชื่อแสดงความสนใจอีกกว่า 300 ราย โดยผู้ร่วมอบรมที่ผ่านการอบรมดังกล่าวจะได้รับใบประกาศนียบัตรเข้าร่วมอบรมและผู้ผ่านการทดสอบจะมีโอกาสให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เป็นหนี้ผ่านโครงการแก้หนี้ของแบงก์ชาติต่อไป
"เราหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะสร้างความรู้ทางการเงินที่เป็นประโยชน์และเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนสร้างบุคลากรที่เป็นหมอหนี้ที่มีความรู้และให้คำแนะนำกับประชาชนได้มากขึ้น และเมื่อพ้นจากภาวะหนี้แล้ว การวางแผนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตสามารถทำให้สำเร็จได้ไม่ยากเลย" นายวิโรจน์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit