กรมอนามัย แนะสถานศึกษา ทำห้องปลอดฝุ่น เพิ่มพื้นที่อากาศสะอาดสำหรับเด็ก

03 Feb 2025

กรมอนามัย ห่วงกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน เด็กเล็ก และ สถานศึกษา ทำความสะอาดห้องเป็นประจำทุกวัน โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการกวาดหรือปัดฝุ่น และจัดทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศที่สะอาด

กรมอนามัย แนะสถานศึกษา ทำห้องปลอดฝุ่น เพิ่มพื้นที่อากาศสะอาดสำหรับเด็ก

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน ที่มีค่าฝุ่นขึ้นสูงอยู่ในระดับสีส้ม ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. - 4 ก.พ. 68 โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ที่อาจทำให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ที่มีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ได้รับมลพิษมากขึ้น อันตรายของฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมรรถนะของปอดเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและสติปัญญา กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือสถานศึกษาเร่งจัดทำห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งทำความสะอาดห้องเรียนเพื่อลดฝุ่น เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศที่สะอาด โดยปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ปิดช่องหรือรูด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น ยาแนวประตู เทป หรือวัสดุอื่นที่ปิดช่องได้สนิท เพื่อป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง เพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ กำจัดอนุภาคของฝุ่นละอองที่อยู่ภายในห้อง หรือใช้เครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมอากาศสะอาดเข้าไปให้ห้อง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง หากช่วงฝุ่นน้อย ให้เปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศภายในห้อง และทำความสะอาดห้องเป็นประจำทุกวัน โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการกวาดหรือปัดฝุ่น ขณะนี้ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนมีห้องปลอดฝุ่น จำนวนกว่า 2,000 แห่ง

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า นักเรียนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หรือหอบหืด ต้องได้รับการดูแลจากคุณครูอย่างใกล้ชิด โดยให้อยู่ภายในอาคารหรือห้องปลอดฝุ่น และช่วงที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือช่วงที่ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีส้ม สีแดง (ตั้งแต่ 37.5 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) สถานศึกษาควรให้นักเรียนที่มีโรคประจำตัวหลีกเลี่ยงหรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง การออกกำลังกายกลางแจ้ง และมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น การเผาขยะ ใบไม้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองจอดรถรับ-ส่งนอกสถานศึกษา หากจำเป็นต้องนำรถเข้ามาจอด ให้ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ2) ขอความร่วมมือร้านค้าแผงลอย ปิ้งย่างโดยใช้เตาไร้ควันหรือถ่านไร้ควัน และ 3) ปลูกต้นไม้บริเวณโรงเรียนหรือจัดสวนแนวตั้ง เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญคุณครูควรสื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันตนเองแก่นักเรียนอยู่เสมอ

"ทั้งนี้ ผู้ปกครอง ควรดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเมื่อต้องเดินทางไปโรงเรียน ดังนี้ 1) เช็คค่าฝุ่นทุกเช้าก่อนพาลูกไปโรงเรียน 2) วางแผนหรือวิธีการเดินทางเพื่อลดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด เช่น จากการเดินให้เปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะ 3) สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้าให้เด็ก และ 4) สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาให้พร้อมและแจ้งผู้ดูแลหรือครู หากมีอาการผิดปกติ ให้พาไปพบแพทย์ รวมทั้ง ลดการอยู่กลางแจ้งและกลับบ้านให้เร็วที่สุด พร้อมสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นตลอดเวลาที่อยู่กลางแจ้ง สถานศึกษาสามารถศึกษาคู่มือแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM2.5 สำหรับสถานศึกษา ที่ https://hia.anamai.moph.go.th/th/publications/4671#wow-book/ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นและวิธีการทำห้องปลอดฝุ่น ได้ที่เว็บไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th/ หรือ สายด่วนกรมอนามัย 1478" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

กรมอนามัย แนะสถานศึกษา ทำห้องปลอดฝุ่น เพิ่มพื้นที่อากาศสะอาดสำหรับเด็ก
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit