คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดแข่งขันทักษะท่องเที่ยว-โรงแรม-อาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" วอศ.เพชรบุรี -ร.ร.สมุทรสาครฯ คว้าแชมป์ไปครอง

17 Feb 2025

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 5 - 6 และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงทุนการศึกษา การแข่งขันครั้งนี้แบ่งเป็น 2 รายการ คือ การแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และการประกอบอาหาร มีทีมเข้าร่วม 35 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม PBPVC 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี และการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร(แข่งเดี่ยว) ภายใต้ธีม "อาหารไทยจานหลักสตรีทฟู้ดฟรีสไตล์" มีทีมเข้าร่วม 13 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม GOOD PART จากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย นำเสนอ เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ได้อย่างลงตัว ภายในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกันนี้ยังมีผู้แทนจากบริษัทพันธมิตร ให้เกียรติเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมอบทุนการศึกษาสมทบ ณ ห้องสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดแข่งขันทักษะท่องเที่ยว-โรงแรม-อาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" วอศ.เพชรบุรี -ร.ร.สมุทรสาครฯ คว้าแชมป์ไปครอง

ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงการประกอบอาหาร โดยบูรณาการแนวคิด Soft Power ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ผ่านองค์ประกอบ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการต่อสู้มวยไทย (Fighting) และเทศกาล (Festival) ซึ่งการจัดการแข่งขั้นครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอาหาร อาทิ บริษัท Find Folk สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และ Sevenfive เป็นต้น ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนค้นหาตัวตนและสายอาชีพที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด

นายสรรพวัต กันตามระ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม กล่าวว่า Soft Power ไทย มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาค้นคว้าก่อนการแข่งขันจะช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนนักศึกษาได้เห็นมุมมองที่แตกต่างและโอกาสในสายอาชีพใหม่ๆ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มของแต่ละองค์ประกอบใน 5F และการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ จากภาพรวมการแข่งขัน พบว่าผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power อย่างลึกซึ้ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงแรม มีการปรับตัวโดยนำนโยบายด้านความยั่งยืนมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรู้ด้านความยั่งยืนและการบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยให้แก่นักท่องเที่ยว จึงอยากแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมการดังกล่าว ต้องรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสามารถถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน

ด้านทีม PBPVC 2 ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถาม ประกอบด้วย นางสาวเจนวิรา ปานพันธ์ นักศึกษาชั้น ปวส.ปีที่ 1 และนางสาวสุชัญญา ผาโพธิ์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปีที่ 1 สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ร่วมกล่าวเปิดใจว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีที่เพิ่มพูนความรู้ด้านการท่องเที่ยวและประสบการณ์การแข่งขัน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไรก็ตามเรารู้สึกประทับใจต่อการจัดการแข่งขันมาก โดยเฉพาะการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ รวมถึงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ 5F

ขณะที่นายณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิต อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวว่า การแข่งขันใช้เกณฑ์การตัดสิน 10 องค์ประกอบ อาทิ การเตรียมวัตถุดิบและการเลือกใช้วัตถุดิบให้สอดคล้องกับโจทย์ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีความสามารถในการประกอบอาหารที่หลากหลาย พร้อมนำเสนอเมนูอาหารที่ครบถ้วนในจานเดียวและมีรสชาติที่ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามการแข่งขันนี้เป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่สนใจอาหารไทยมากขึ้น เห็นคุณค่าของการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เมนูอาหาร และสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้

ด้านทีม GOOD PART หรือ นายวรวุฒิ เสือสี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวเปิดใจว่า ได้รับโจทย์ให้ประกอบอาหาร 5 องค์ประกอบในจานเดียว ภายใต้หัวข้อ Main-Course Thai Street Food Freestyle ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายสูง ตามโจทย์ Street Food ของไทยที่มักจะเป็นไก่ย่างส้มตำ จึงคิดดัดแปลงเป็น เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ในรูปแบบฟิวชันที่ผสมผสานระหว่างข้าวมัน ส้มตำ และแกงไก่ ประกอบด้วย สเต็กไก่เสิร์ฟพร้อมซอสแกงเขียวหวาน ส้มตำดัดแปลงเป็นผัดเปรี้ยวหวาน และข้าวริซอตโตที่หุงด้วยความมัน โดยใช้ข้าวบาร์เลย์แทนข้าวเหนียว เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียง และเพิ่มวิปปิ้งครีมราดบนข้าวริซอตโต โดยจานอาหารนี้ประกอบด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยอาหาร อย่างไรก็ตามรู้สึกดีใจมากที่ได้คว้าแชมป์ในครั้งนี้ หลังจากเรียนจบชั้นม.6 จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในด้านการประกอบอาหาร เพราะฝันอยากเป็นเชฟในโรงแรมชื่อดัง และเปิดร้านอาหารของตนเองในต่างประเทศ

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จัดแข่งขันทักษะท่องเที่ยว-โรงแรม-อาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" วอศ.เพชรบุรี -ร.ร.สมุทรสาครฯ คว้าแชมป์ไปครอง