สนุกกับวันวาเลนไทน์อย่างไร....ให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

14 Feb 2025

Valentine's day วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เดิมทีคือวันรำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ในศาสนาคริสต์ เมื่อเวลาผ่านไปวันวาเลนไทน์นี้จึงค่อย ๆ กลายเป็นวันที่แสดงออกถึงความรักซึ่งกันและกัน ในช่วงใกล้ เทศกาลวาเลนไทน์นี้ จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้วัยรุ่น คู่รัก ตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์ให้ปลอดภัย เช่น ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่องทางอื่นๆ เช่น ปาก ทวารหนัก ไม่ใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กันบุคคลที่เพิ่งรู้จัก หรือผู้ที่ติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และหมั่นรักษาความสะอาดร่างกายและอวัยวะเพศอยู่เสมอ

สนุกกับวันวาเลนไทน์อย่างไร....ให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STDs (Sexual transmitted diseases) สามารถติดต่อ ได้แม้ไม่มีการสอดใส่ หรือแม้แต่สวมถุงยางอนามัยร่วมด้วยแล้ว ในบางรายอาจได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว และไม่มีอาการแสดง ทำให้เข้ารับการตรวจรักษาช้า จนอาจเกิดความผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ติดเชื้อรุนแรงที่บริเวณท่อนำไข่ รังไข่ หรือมดลูกจนต้องเข้ารับการผ่าตัด, เชื้อส่งต่อจากมารดาไปยังทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเชื้อสามารถทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีหลายชนิด บางชนิดอาจไม่มีอาการใดแต่ตรวจสุขภาพแล้วบังเอิญพบเชื้อ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย ได้แก่

  1. หนองในแท้-เทียม (Gonorrhea, Chlamydia) มีอาการตกขาว แสบขณะปัสสาวะ หากติดเชื้อรุนแรงอาจมีหนองไหลออกมาจากช่องทางปัสสาวะ-ช่องคลอด หรือมีอาการปวดอุ้งเชิงกราน ไข้ขึ้นสูง ร่วมด้วยได้
  2. เชื้อเริม (Herpes simplex virus) มีกลุ่มของตุ่ม ผื่น หรือแผลบริเวณอวัยวะเพศ-ปาก มีอาการเจ็บ แสบร้อน รอยโรคมักเป็น ๆหาย ๆ ไม่สามารถหายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่บริเวณปมประสาทในร่างกาย
  3. เชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus) มักไม่แสดงอาการในช่วงแรก การติดเชื้อจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง สามารถติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนได้ง่าย เช่น โรคปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง โรควัณโรค
  4. เชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เมื่อติดเชื้อในช่วงแรกจะไม่มีอาการแสดง แต่อาจทำให้เซลล์ที่เคยปกติเปลี่ยนแปลงไปเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งได้
  5. ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) เมื่อติดเชื้อแล้วมักไม่มีอาการแสดงในระยะแรก แต่เชื้ออาจทำให้เกิดตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมะเร็งตับในอนาคตได้
  6. เชื้อโปรโตซัว (Trichomonas vaginalis) มักมีอาการตกขาวสีเขียว-เหลือง มีกลิ่น คันช่องคลอด หรือปัสสาวะขัดได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อันตรายหากไม่ตระหนักถึงการป้องกันและรักษา แนะนำหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์ พกถุงยางอนามัยพร้อมใช้ หากมีความเสี่ยง หรือมีอาการให้ตรวจพบแพทย์ และหากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้เข้ารับการรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงการส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว

บทความให้ความรู้โดย แพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร (ว.49688) สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช กรณีหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช โทร.1507 Line: @navavej

สนุกกับวันวาเลนไทน์อย่างไร....ให้ห่างไกลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์