กทม. เข้มมาตรการเขตมลพิษต่ำ (LEZ) - ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นต่อเนื่อง

27 Jan 2025

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีคณะอนุกรรมมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ในคณะ กมธ.การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร เสนอแนะการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยนำแนวทางดำเนินการและหลักปฏิบัติของประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 มาปรับใช้ว่า หนึ่งในมาตรการที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของ กทม. คือ มาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone: LEZ) ในการห้ามรถดีเซลที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ปล่อยมลพิษสูงเข้าพื้นที่ใจกลางกรุงโซล ซึ่ง กทม. ได้ออกประกาศพื้นที่เขตมลพิษต่ำห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ยกเว้น EV, NGV, EURO 5-6 และรถที่ขึ้นทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 68 โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 23 ม.ค. 68 เวลา 00.01 น. จนถึงวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 68 เวลา 23.59 น. ซึ่งถือว่า กทม. เป็นองค์กรแรกที่ดำเนินการมาตรการ LEZ ดังกล่าว เพื่อร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่เขตเมือง

กทม. เข้มมาตรการเขตมลพิษต่ำ (LEZ) - ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นต่อเนื่อง

สำหรับสถานีตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ของ กทม. มีทั้งหมด 70 สถานี และสถานีตรวจวัดฯ ของกรมควบคุมมลพิษอีก 12 สถานี รวม 82 สถานี ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และมีป้ายแสดงค่าฝุ่น PM2.5 บริเวณสถานีตรวจวัด และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น บริเวณสวนสาธารณะที่อยู่ในความดูแลของ กทม. รวมทั้งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเผยแพร่ผ่านป้ายจราจรอัจฉริยะทั้ง 239 ป้าย เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com เพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. หรือติดตามทางแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า สามารถวางแผนการเดินทาง การทำงาน การทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ช่วยลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า กทม. ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยให้ สนย. และสำนักงานเขต เพิ่มความเข้มงวดตรวจตราตามมาตรการการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร กรณีพบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ให้หน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ หรือเจ้าของโครงการก่อสร้าง พิจารณาหยุดดำเนินการก่อสร้างฯ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเวลานั้น พร้อมทั้งให้สรุปรายงานผลให้ สนย. เพื่อรายงานผู้บริหาร กทม. รับทราบต่อไป โดย สนย. ได้มีหนังสือแจ้งเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารขนาดใหญ่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคาร ขอความร่วมมือให้โครงการ ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ภายในโครงการอย่างน้อย 1 จุด เพื่อตรวจวัดว่าปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับใด เกินกว่าค่ามาตรฐานกรมควบคุมมลพิษและมาตรฐานองค์การอนามัยโลกหรือไม่ หากพบเกินค่ามาตรฐานกำหนด โครงการฯ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ลดงาน หรือกิจกรรมดังกล่าว หรือจัดหาวิธีการ มาตรการป้องกันและควบคุมเพิ่มเติม เพื่อให้การป้องกันและควบคุมมลพิษมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคาร และ สนย. จะลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรการในการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนกำชับให้โครงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละอองในพื้นที่โครงการอย่างเคร่งครัด

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขต สสล. สำนักการโยธา (สนย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะและมาตรการควบคุมฝุ่น PM2.5 ในสถานประกอบกิจการ โรงงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สูง สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน ท่าทรายอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 เช่น มีแผงกั้นป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM2.5 ที่มีประสิทธิภาพ ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโรงงาน หรือสถานที่ก่อสร้าง มีระบบกำจัดฝุ่น PM2.5 จากกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และในปี 2568 ได้ตรวจประเมินกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไปแล้ว 1,534 แห่ง ตามลำดับปัญหา โดยในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจติดตามและกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 สูงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการพิจารณาประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในแต่ละพื้นที่ โดย กทม. ได้นำหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดตามประกาศดังกล่าวมาจัดทำแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ผู้อำนวยการเขตสามารถออกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในแต่ละพื้นที่ได้ โดยพิจารณาให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ดังนี้ (1) มีเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น (2) มีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป และ (3) มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยต้องปรากฏลักษณะบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ มีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนที่คาดว่าเป็นผลมาจากเหตุรำคาญที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 มีผลการตรวจวัดค่าจากฝุ่น PM2.5 ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพิจารณาจากค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขึ้นไป สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน และมีผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่บ่งชี้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือปรากฏโรค หรือความเจ็บป่วยของประชาชนที่คาดว่าเป็นผลมาจากเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5