สำนักงานใหญ่ EECi จังหวัดระยอง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา "เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและการพัฒนาทักษะความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการจัดการแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนให้กับบุคลากรภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม" โดยมี ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (TECE) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นางณัฐธารีย์ สิริกุลปัญญาพร รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง เป็นประธานการลงนาม โดยมี ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ รศ.ประภาส พวงชื่น หัวหน้าแผนกวิชายานยนต์ไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคระยอง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (TECE) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ "การผลักดันการประยุกต์ใช้และการจัดการตลอดวงจรของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย" ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ครั้งที่ 7 โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และสร้างรากฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งนี้ยังเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากรผ่านการจัดฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดย TECE มีพันธกิจหลักในการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม EV โดยครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน และการผลักดันการนำเทคโนโลยีไปใช้จริง
บทบาทสำคัญของ สวทช. ในความร่วมมือ การพัฒนาบุคลากรผ่านการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคระยอง เพื่อเสริมทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การจัดการแบตเตอรี่อย่างยั่งยืน และสถานีชาร์จไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สวทช. ยังสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น เช่น ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์วิจัย และเครือข่ายนานาชาติ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และการศึกษา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม EV อย่างยั่งยืน
ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้ายกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
นางณัฐธารีย์ สิริกุลปัญญาพร รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวว่า บทบาทของวิทยาลัยเทคนิคระยองในความร่วมมือพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) มุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และความพร้อมของบุคลากรในภาคการศึกษา โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีคุณภาพ ในการดำเนินงานครั้งนี้ วิทยาลัยจะทำงานร่วมมือกับ สวทช. อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม EV โดยเน้นการสร้างทักษะที่นำไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนา และเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยี EV และการจัดการแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนให้แก่นักศึกษาและบุคลากรในพื้นที่ อีกทั้ง วิทยาลัยจะสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมดำเนินโครงการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพในระดับชุมชนและประเทศ
ความร่วมมือนี้ไม่ได้มุ่งเพียงการพัฒนาทักษะบุคลากรในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรม EV โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอบรมเรื่อง "การซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง" ซึ่งจัดขึ้นโดยนักวิจัยจาก NECTEC และ ENTEC โดยมีการนำเสนอจาก ดร.บุรินทร์ เกิดทรัพย์ หัวหน้าทีมวิจัยมอเตอร์และการแปลงผันกำลังงาน, นายสมเดช แสงสุรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์และการทดสอบผลิตภัณฑ์, และ ดร.มานพ มาสมทบ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งชมสาธิตการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit