เอ็นไอเอสะท้อนวิกฤต "สิ่งแวดล้อม" ไทยที่ไม่ควรมองข้าม หนุนใช้นวัตกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโลกเดือด

24 Jan 2025

คงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า "โลกร้อน" หรือ "โลกรวน" ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว หนึ่งในความท้าทายของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด ดินโคลนถล่ม ไฟป่า ฯลฯ
โดยตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 40 ปี เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ซึ่งมากกว่าปี 2554 ที่เกิดภาวะอุทกภัยน้ำท่วมทั้งประเทศ ถัดมาปี 2566 ไทยมีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับปี 2567 จากการเก็บสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าหลายพื้นที่ของไทยมีอุณหภูมิร้อนทำลายสถิติเดิมของตัวเองอันเนื่องมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนิโญ อีกทั้งยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือซึ่งถือว่าสร้างความเสียหายและรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ประเมินมูลค่าความเสียหายได้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนควรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพื่อวางแผนรับมือกับภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงตั้งแต่การให้ความรู้พื้นฐานในการป้องกันภัย จนถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

เอ็นไอเอสะท้อนวิกฤต "สิ่งแวดล้อม" ไทยที่ไม่ควรมองข้าม หนุนใช้นวัตกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโลกเดือด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน…สู่โลกเดือด

ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติเริ่มมีความแปรปรวนเพิ่มขึ้น เมื่อโลกของเรากำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกแถลงเตือนว่า ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือดได้เข้ามาแทนที่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ การพัฒนาความเจริญก้าวหน้า และแน่นอนว่า ภาวะโลกเดือดเป็นสัญญาณภัยพิบัติร้ายแรงที่สร้างผลกระทบแบบโดมิโน่ต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก เช่น อุณหภูมิความร้อนสูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มทำงานกลางแจ้ง สิ่งมีชีวิต
หลายชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แล้งนาน อากาศแปรปรวน ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคเกษตร
และภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำ การดูแลปศุสัตว์ รวมถึงการวิจัยพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น เป็นต้น

เอ็นไอเอโชว์ต้นแบบนวัตกรรมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติในยุคภาวะโลกเดือด

จากวิกฤตดังกล่าว ประเทศไทยเริ่มมีความตื่นตัวและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และยังสามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมที่น่าสนใจ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศเล็งเห็นความสำคัญ
ในการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันภัยทางธรรมชาติ จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การรับมือและบรรเทาปัญหาภัยธรรมชาติ

Fon Faa Arkat: สถานีแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสภาพอากาศอย่างแม่นยำด้วย AI

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้พัฒนาและนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยทำนายการเกิดฝนตกล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลบนอุปกรณ์โดยตรงไม่ผ่านระบบคลาวด์ หรือเซิร์ฟเวอร์ระยะไกล หรือ Edge AI ที่สามารถใช้ได้ในอุปกรณ์ขนาดเล็ก ขยายผลได้ดี ทำงานได้แม้ในพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ด้วยกระบวนการ Machine Learning แบบ Convolutional Neural Network (CNN) ที่เหมาะสมกับการทำนายข้อมูลเชิงปริมาณที่ถูกจัดเก็บในช่วงเวลาหนึ่ง และเหมาะสมกับการใช้ร่วมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงได้ง่าย และมีราคาไม่แพง ซึ่งต่างกับการใช้ cloud AI ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนได้แบบเรียลไทม์ผ่านไลน์และจอสาธารณะ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทันท่วงที เพื่อนำมาวางแผนล่วงหน้าในการป้องกันภัยน้ำท่วมและการทำเกษตรกรรมได้ ถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของเทศบาลตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และอีกหลายชุมชนที่เคยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนสะสม พายุเข้าหรือเกิดน้ำป่าไหลหลาก จนเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ดังนั้น การทราบล่วงหน้าว่าฝนจะตกหรือน้ำจะท่วม จะช่วยให้ประชาชนสามารถเตรียมการรับมือได้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เรือกู้ภัยไฟฟ้าพลังงานโซล่าเซลล์ นวัตกรรมช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ชุมชนหาดสวนยา จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี พัฒนานวัตกรรมเรือไฟฟ้าพลังงานโซล่าเซลล์ที่มีขนาดมอเตอร์ 1,200 วัตต์ สามารถควบคุมบังคับให้วิ่งเดินหน้า ถอยหลังด้วยระบบคันเร่งแบบบิด บรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม สามารถชาร์จพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 8 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง) และวิ่งได้แม้จะไม่มีแสงแดด นอกจากนี้ ชุดแปลงแรงดันไฟฟ้ายังสามารถใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ เช่น พัดลม หรือชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์น้ำท่วมที่ต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก โดยเรือไฟฟ้าฯ จะมาช่วยหนุนเสริมในการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปัจจุบันมีการส่งมอบให้ชุมชนเพื่อนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีการผลักดันสนับสนุนให้เกิดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์และใช้ในวงกว้าง จะมาสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและลดความเสียหายในพื้นที่อื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น

ชุดการเรียนรู้การรับมือสถานการณ์ฝุ่นด้วยกล่องลังฟอกอากาศ DIY และมุ้งสู้ฝุ่น

วิกฤตหมอกควันและฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น กลุ่มชุมชนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้พัฒนา "ระบบติดตามค่าฝุ่น @AirCMU" และ "คู่มือการเรียนรู้เรื่องมลพิษทางอากาศ" และต่อยอดนวัตกรรมโดยพัฒนา "ชุดการเรียนรู้การรับมือสถานการณ์ฝุ่นผ่านกล่องลังฟอกอากาศ DIY สำหรับมุ้งสู้ฝุ่น" โดยมีนวัตกรรมที่โดดเด่น คือ "มุ้งความละเอียดสูง" ที่มีการตัดเย็บเข้ารูปให้พอดีจากฝีมือชุมชน ซึ่งพัฒนาขึ้นใหม่และนำมาประกอบกับพัดลมดูดอากาศ แผ่นกรองอากาศ HEPA รวมเป็น "ชุดกล่องลังฟอกอากาศ DIY" ทั้งนี้ ส่วนประกอบทั้งหมดเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยตัวเครื่องกรองภายนอกทำจากกระดาษลังแบบพับได้ ผู้ใช้งานสามารถประกอบใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำจากกระดาษรีไซเคิล 100% เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมนี้มีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้ที่ไม่สามารถพักผ่อนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น ห้องผู้ป่วยรวม สามารถได้รับอากาศบริสุทธิ์ในราคาไม่แพง และสามารถปรับเปลี่ยนขนาดมุ้งเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นได้อย่างยืดหยุ่น สำหรับยผลการทดสอบเบื้องต้น กล่องลังฟอกอากาศ DIY รุ่นที่ 1 ในห้องสภาวะปิดขนาด 24 ลูกบาศก์เมตร พบว่าค่า PM 2.5 ลดลงจาก 220 เป็น 45 ภายใน 15 นาที และลดลงเป็น 4 ถือเป็นค่าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพใน 40 นาที คิดเป็นประสิทธิภาพการกำจัด PM 2.5 เฉลี่ยร้อยละ 98.77+-0.03 ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการกำจัดฝุ่น เมื่อเทียบเท่าเครื่องฟอกอากาศที่ขายตามท้องตลาด นวัตกรรมนี้จึงสามารถช่วยทำให้ชุมชนสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องกรองอากาศที่ขายทั่วไปในท้องตลาดได้ขั้นต่ำถึงร้อยละ 50

อย่างไรก็ตาม NIA ยังคงพร้อมเดินหน้าเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้นวัตกรไทย ทั้งสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ กิจการเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน ซี่งในปี 2568 นี้ NIA ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ "นวัตกรรมเพื่อชุมชนในยุคภาวะโลกเดือด" (Innovation for Communities in the era of Global Boiling) เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้ "โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2568" (City & Community Innovation Challenge 2025) โดยจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ เพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ เมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน