การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดย ศาสตราจารย์ ดร. ถาวร วัชราภัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนแรกของประเทศที่นำวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาทดลองใช้ในกล้วยไม้ ส่งผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานภาพจากผู้นำเข้ากล้วยไม้มาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และจากผลงานวิจัยนี้ได้ขยายไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศและในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ได้มีการจัดการเรียนการสอน การอบรม การวิจัยและพัฒนาความรู้ทางด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยนำมาใช้ประโยชน์ด้านการขยายพันธุ์พืช การผลิตต้นพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ การผลิตสารสำคัญ และการอนุรักษ์พันธุกรรมและการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช เป็นต้น
ฟ้ามุ่ย หรือ Blue Vanda มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanda coerulea Griff. ex Lindle. เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ด้วยลักษณะของดอกที่มีสีฟ้าอ่อนจนถึงสีฟ้าอมม่วง มีลายตารางสีครามเข้มบนพื้นสวยงามโดดเด่น จึงถูกยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งกล้วยไม้สกุลแวนด้า ซึ่ง "เปรียบประดุจชื่อเสียงของบัณฑิตมหาวิทยาลัยพะเยา ที่จะเป็นคนดีมีคุณภาพ มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก" ด้วยสีสันและความสวยงามนี้ฟ้ามุ่ยจึงถูกคุกคามนำออกจากป่าเป็นจำนวนมากส่งผลให้ในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ฟ้ามุ่ยเคยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีควบคุมทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเข้มงวดหรืออยู่ในไซเตส (CITES) บัญชีที่ 1 เพื่อควบคุมไม่ให้มีการนำต้นออกจากป่ามาเพื่อจำหน่าย ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้เสนอให้ถอดชื่อกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยออกจากไซเตสบัญชี 1 ไปอยู่บัญชี 2 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้ามากยิ่งขึ้น
ห้องปฏิบัติการวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีการดำเนินการเพิ่มจำนวนกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างฝักจากหมู่บ้านอนุรักษ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยท้องถิ่นบ้านปงไคร้ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มาทำการเพาะเมล็ดในสภาพห้องปฏิบัติการ โดยศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการชักนำเมล็ดให้พัฒนาเป็นต้นที่สมบูรณ์ สำหรับใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอน ตลอดจนสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชยังเก็บรวบรวมและขยายพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองสกุลต่าง ๆ เพื่อนำคืนสู่ธรรมชาติในอนาคตต่อไป อาทิเช่น เอื้องช้างน้าว (Dendrobium puchellum Roxb.ex Lindl.) เอื้องเงิน (Dendrobium draconis Rchb.f.) เอื้องคำ (Dendrobium chrysotoxum) เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi Steud.) ช้างกระ (Rhynchostylis gigantea Lindl. Ridl.) เข็มขาว (Vanda lilacina Teijsm. & Binn.) กะเรกะร่อนปากเป็ด (Cymbidium finlaysonianum) ว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum) และว่านนกคุ้มไฟ (Anoectochilus reinwardti) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
จารุวรรณ จาติเสถียร. (2547). การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช : เพื่อประยุกต์ทางเกษตร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร. สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน เล่มที่ ๓๑ เรื่องที่ 5 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (E-book) สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2567, จากhttps://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=31&chap=5&page=t31-5-infodetail01.html
อารยา หงส์เพชร. (2545). การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. วารสารกรมวิทยาศาสตร์, 50(160), 1 - 4.
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit