วว. /จังหวัดปทุมธานี/บ.อาปิโกไฮเทค เปิดตัว "จุลินทรีย์ BioD I วว.ช่วยย่อยสลายตอซังข้าว" ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร

17 Jul 2024

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดตัว "กลุ่มจุลินทรีย์ BioD I วว. เพื่อย่อยสลายตอซังข้าว" มีประสิทธิภาพเพิ่มธาตุอาหารในแปลงนาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมโชว์ "เทคโนโลยี วว. ยกระดับการเกษตรปทุมธานี" เนื่องใน "งานรณรงค์สร้างแนวร่วมหยุดเผาในพื้นที่เกษตร สู่เมืองปทุมธานีไร้ควัน" ซึ่งจังหวัดปทุมธานีจัดขึ้น ภายใต้โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรจังหวัดปทุมธานี โอกาสนี้ ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร ดร.ดวงพร อุนพานิช ผอ.ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผอ.ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์ ดร.ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ พร้อมคณะนักวิจัยและบุคลากร วว. เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ ลานวัดตระพัง และแปลงนาสาธิต หมู่ที่ 5 ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

วว. /จังหวัดปทุมธานี/บ.อาปิโกไฮเทค เปิดตัว "จุลินทรีย์ BioD I วว.ช่วยย่อยสลายตอซังข้าว" ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ชาวนาเคยชินกับการทำนาแบบดั้งเดิม โดยมักจะเผาตอซังและฟางข้าว ด้วยเหตุผลเพื่อกำจัดข้าววัชพืช และเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วและง่าย ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการเผาทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และโครงสร้างดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และชาวนามีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า กลุ่มจุลินทรีย์ BioD I วว. เพื่อย่อยสลายตอซังข้าว เป็นความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาของ วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ในสังกัด ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือของ วว. จังหวัดปทุมธานี กลุ่มเกษตรกร และบริษัทอาปิโก ไฮเทคฯ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการลดผลกระทบต่องสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตร (การสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจุลินทรีย์กลุ่มดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้มีความพึงพอใจ เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการหมักเพื่อย่อยสลายสั้น จุลินทรีย์ไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าว และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ นอกจ่ากนี้เพื่อให้ใช้งานสะดวกและมีความยั่งยืนในการใช้จุลินทรีย์ของเกษตรกร วว. ได้คิดค้น "ถังบ่มเพาะหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ" ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ได้เอง และมีจุลินทรีย์ฯ กระจายสู่เกษตรกรในชุมชนได้ทั่วถึง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ "รักษ์โลก ปลอดเผา ปลอดภัย" และได้ขอความร่วมมือชาวปทุมธานีให้หยุดเผาในพื้นที่โล่งแจ้งและพื้นที่การเกษตร เพื่ออากาศสะอาด ปราศจากหมอกควัน และได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอแนวทางการดำเนินงาน "3R Pathumthani Model" เพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรจังหวัดปทุมธานี ดังนี้ 1. Realize : สร้างการตระหนักรู้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา 2. Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชแบบไม่เผา ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซัง มุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. Recycle : นำวัสดุเหลือใช้หมุนเวียนมาใช้ใหม่ ส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย ทั้งนี้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษ หมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ในวันนี้จังหวัดปทุมธานีพร้อมเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และพร้อมที่จะส่งมอบจุลินทรีย์ BioD I วว. ให้แก่เกษตรกรชาวปทุมธานีทุกคน

สำหรับผลงาน "เทคโนโลยี วว. ยกระดับการเกษตรปทุมธานี" ที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นผลการดำเนินงานของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดปทุมธานี ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มุ่งเน้นให้การทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพ จากการดำเนินงานก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 20.7858 ล้านบาท ผลกระทบทางสังคม 0.3001 ล้านบาท ผลงานที่จัดแสดงประกอบด้วย การพัฒนาปัจจัยการผลิตเฉพาะพื้นที่ (พันธุ์พืช ปุ๋ย ชีวภัณฑ์) ได้แก่ การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตชะลอความสูงของต้นกล้วยโดยใช้ฮอร์โมน (กล้วยต้นเตี้ย) การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดผลกล้วย (กล้วยผลโต) การปลูกเลี้ยงกล้วยปลอดโรค ปุ๋ยเสริมซีลีเนียมในกล้วย และการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์/สมุนไพร ได้แก่ สารสกัดข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมปทุม และบัวหลวง เป็นต้น

** หมายเหตุ ; BioD I วว. อ่านว่า ไบ-โอ-ดี-วัน วว .**

 

วว. /จังหวัดปทุมธานี/บ.อาปิโกไฮเทค เปิดตัว "จุลินทรีย์ BioD I วว.ช่วยย่อยสลายตอซังข้าว" ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร