ผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ไตรมาส 3/67 จากการสำรวจของ SME D Bank ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ภาพรวมปรับลดลงจากปัจจัยหลายด้านรุมเร้า เช่น อุทกภัย ความเสี่ยงทางการเมือง กำลังซื้อชะลอตัว ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า หรือ Q4/67 เชื่อมั่นฟื้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ด้าน SME D Bank ประกาศช่วยเสริมแกร่งเอสเอ็มอี ดันมาตรการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยลดภาระค่าใช้จ่าย คู่เติมทุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยเตรียมพร้อม เดินหน้าธุรกิจเต็มศักยภาพ
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank โดย "ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว." ร่วมกับ "สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เผยผลสำรวจ "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2567 และคาดการณ์อนาคต" จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาสที่ 3/2567 อยู่ที่ระดับ 43.63 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 52.06 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตที่ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ผลจากปัจจัยกดดันสำคัญ คือ ด้านการเมืองในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังขาดความชัดเจน การชะลอตัวของสภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดที่ซบเซา นอกจากนี้สภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจลดลง สอดคล้องกับผลประกอบการและคำสั่งซื้อที่ลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาอุทกภัยส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักในบางช่วง ความต้องการสินค้าและบริการลดลง ปัญหาติดขัดในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่ง
เมื่อแยกพิจารณาตามประเภทธุรกิจ ความเชื่อมั่นลดลงทุกประเภทธุรกิจ โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ความเชื่อมั่นต่ำสุด ที่ระดับ 38.53 ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยว มีระดับความเชื่อมั่นสูงสุด ที่ระดับ 49.26
ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4/2567) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 49.18 โดยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ สภาพคล่องของธุรกิจ และปริมาณการผลิต เนื่องจากคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านต้นทุนการประกอบการยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน
นายพิชิต กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อันเนื่องจากปัจจัยกดดันที่ทำให้ภาระในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ธนาคารจึงดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาภาระ ด้วยการออกมาตรการ "พักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย" สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ธนาคารกำหนด ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้สิทธิสมัครใจพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
นอกจากนั้น ยังมีโครงการเติมทุน มีหรือไม่หลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้ได้ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความพร้อมเดินหน้าธุรกิจคว้าโอกาสรับเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี เช่น สินเชื่อ "SME Green Productivity" ช่วยยกระดับเพิ่มผลิตภาพสู่ธุรกิจสีเขียว อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปี วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนนาน 10 ปี และสินเชื่อ "Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้" ทำธุรกิจ 1 ปีก็กู้ได้ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MLR-1% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี เป็นต้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการต่าง ๆ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น LINE Official Account : SME Development Bank เว็บไซต์ www.smebank.co.th สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit