ไวรัส RSV วายร้ายในผู้สูงอายุ

30 Sep 2024

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เชื้อไวรัสที่คุ้นหูในหลาย ๆ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รู้หรือไม่ว่า ผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนที่ภูมิต้านทานต่ำ RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้สูงขึ้นกว่าฤดูอื่น ๆ หากเกิดการติดเชื้อในระบบการหายใจส่วนล่าง อันได้แก่ หลอดลม และปอด อาจทำให้อาการรุนแรง ซึ่งบทความให้ความรู้ไขข้อสงสัยไวรัส RSV ในผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไรโดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช เพื่อให้ทุกท่าน รู้เขา รู้เรา เข้าใจ เฝ้าระวัง รักษา ป้องกัน ช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไวรัส RSV วายร้ายในผู้สูงอายุ

รู้เขา : การก่อโรค RSV

โรค RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV โดยผู้ติดเชื้อ ไอ จาม ทำให้เชื้อไวรัส RSV กระจายผ่านละอองฝอย โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก หรือดวงตา หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง เช่น นำมือมาสัมผัสใบหน้า รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยเชื้อสามารถอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานหลายชั่วโมง และแพร่กระจายได้ง่าย

รู้เรา : อาการของโรค RSV

ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่อาการของ RSV จะมีลักษณะคล้ายกับอาการของหวัดธรรมดา แต่อาการแสดงนานกว่า โดยอาการแสดง เช่น

  • ไข้
  • ไอเรื้อรัง
  • หอบเหนื่อย
  • เสมหะมากขึ้น
  • อ่อนเพลีย

สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปโรค RSV มักจะมีอาการ 5-7 วัน และดีขึ้นได้ แต่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน หอบหืด โรคปอดอุดกั้น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง หรือภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้อาการรุนแรง

เข้าใจ : ความร้ายแรงของโรค RSV ในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ RSV ได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวอื่น หรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือเกิดภาวะหายใจล้มเหลว อาการอาจเป็นต่อเนื่องหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพ และการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เฝ้าระวัง : รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรค RSV

ถ้าผู้ป่วยพบว่ามีอาการเบื้องต้น และยังไม่แน่ใจว่าได้รับเชื้อ RSV หรือไม่ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยการตรวจสารคัดหลั่งจากจมูกหรือคอ เพื่อหาหลักฐานของไวรัส RSV

รักษา  : การรักษา

โรค RSV เป็นโรคติดเชื้อที่ถึงแม้หายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน ในผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก หากมีอาการป่วย ควรสังเกตอาการของตนเอง การรักษาให้ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค การรักษาในรายที่อาการรุนแรง ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญการ

ป้องกัน : การป้องกันการติดเชื้อ

หลีกเลี่ยงการรับเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการไปที่อับแคบ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด หากมีคนในบ้านป่วยติดเชื้อ RSV ควรแยก และงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

วัคซีน RSV เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และความรุนแรงของโรค RSV และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้โดยตรง ซึ่งมีทั้งวัคซีนสำหรับเด็ก และวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ กรณีหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค RSV สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม รพ.นวเวช โทร. 1507 I Line: @navavej

 

 

ไวรัส RSV วายร้ายในผู้สูงอายุ
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit