วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในปีการศึกษา 2568 รองรับความต้องการบุคลากรด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีความต้องการอย่างมากจากการเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก หลักสูตรเน้นให้นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติ และมีศักยภาพในการทำงานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น อาทิ ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า การจัดเก็บและจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ การออกแบบและสร้างยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและจีน เป็นต้น
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความนิยมรถยนต์ HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ รถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายค่าพลังงานและมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จากสถิติยอดขายรถยนต์เดือนกรกฎาคม 67 ที่ผ่านมาพบว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) ทั้งหมด 17,243 คัน คิดเป็นสัดส่วน 37.2% ของรถยนต์ทั้งหมด โดยเติบโตขึ้น 41.4% ซึ่งแบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ HEV 9,203 คัน ยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 7,265 คัน และที่เหลือเป็น PHEV สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
"โดยพื้นฐานแล้วรถยนต์ HEV จะมีระบบการทำงานที่ซับซ้อนกว่าทั้งรถยนต์ BEV และ ICE (Internal Combustion Engine) เพราะต้องมีทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่อยู่ในรถคันเดียวกัน ทั้งนี้การที่รถยนต์ HEV ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลทั้งเรื่องสถานีชาร์จรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุม รวมถึงความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และราคายังผันผวน ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคจึงนิยมใช้รถยนต์ HEV มากว่ารถยนต์ BEV และคาดว่ารถ HEV จะได้รับความนิยมต่อไปอีกประมาณ 2 ถึง 3 ปี แล้วรถ BEV จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายต่อไป" ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้ขยายการลงทุนโดยการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยหลายราย ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทางในสาขานี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อตอบรับแนวโน้มดังกล่าว วิทยาลัย CITE DPU จึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า การจัดเก็บและจ่ายพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ความรู้ด้านแบตเตอรี่ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าแบบต่าง ๆ ทั้ง BEV HEV และ PHEV โดยนักศึกษาจะได้ทดลองปฏิบัติจริง เช่น การสร้างรถยนต์ไฟฟ้า การทดสอบแบตเตอรี่ การควบคุมการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าต่าง ๆ ระบบความปลอดภัย การส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน รวมทั้งเทคโนโลยี AI สำหรับระบบควบคุมการขับเคลื่อน เป็นต้น
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ หลักสูตรยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทางภาษา ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานในบริษัทต่างชาติในอนาคต ทั้งนี้ หลักสูตรเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2568 เป็นปีแรก โดยมีความพร้อมทั้งด้านห้องปฏิบัติการ และความร่วมมือกับบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตเครื่องมือด้านยานยนต์ และหน่วยงานที่ดูแลด้านมาตรฐานรถยนต์ เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับโครงการสหกิจศึกษาในประเทศที่เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ในอนาคต โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขาทั้ง ม.ปลาย ปวช. และ ปวส. โดยผู้ที่จบการศึกษาสาขาช่างยนต์ ช่างกล ช่างอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเทียบโอนหน่วยกิตและประสบกาณณ์ทำงานเพื่อให้สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ภายใน 2 ปีเท่านั้น รวมทั้งยังมีหลักสูตรที่เรียนทั้งวันจันทร์-ศุกร์ และ วันเสาร์-วันอาทิตย์ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังทำงาน
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเรียน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cite.dpu.ac.th/ โทร .02-954-7300 ต่อ 594, 498
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit