รู้หรือไม่!? ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก (Climate Watch Data, 2020) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน กว่าร้อยละ 70
อุตสาหกรรมการบิน เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) จากเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องบิน เชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (Ground Support Equipment : GSE) ที่ใช้ในสนามบิน และรถยนต์บริการรับ-ส่งผู้โดยสารและพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในสนามบิน รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานในอาคารสนามบิน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ดังนั้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทั้งจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นและการขยายสนามบิน ย่อมส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น
สำหรับกิจการสนามบิน สามารถจำแนกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็น 3 ประเภท (การจำแนกประเภทนี้จะช่วยให้สามารถจัดทำแผนการลดและกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
- ประเภทที่ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง : จากกิจกรรมของสนามบินหรือภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ รถยนต์ส่วนกลางของสนามบิน ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่เป็นของสนามบิน ระบบการจัดการขยะ/ของเสียในสนามบิน ระบบบำบัดน้ำเสียในสนามบิน ระบบ/อุปกรณ์ดับเพลิงในสนามบิน
- ประเภทที่ 2 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม : จากการซื้อพลังงานมาใช้ในกิจกรรมสนามบิน ได้แก่ พลังงานไฟฟ้าการทำความเย็น
- ประเภทที่ 3 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ : ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ เครื่องบินขณะขึ้น/ลงจอด/เคลื่อนตัว ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่ไม่ใช่ของสนามบิน รถแท็กซี่ รถโดยสารที่ให้บริการผู้โดยสาร รถยนต์ที่มารับ-ส่งผู้โดยสาร รถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งของการจัดการขยะ/ของเสีย รถยนต์พนักงาน รถรับ-ส่งพนักงาน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) โดย ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมกิจการการบินพลเรือน (APD) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้สนามบินบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสนามบิน โดยเฉพาะนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ด้วยการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกิจกรรมสนามบิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผน การป้องกันและควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม การติดตามผลการดำเนินงาน ปรับปรุง/แก้ไขให้ดีขึ้น และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (NET ZERO Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 โดย
- วางนโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจน : สามารถกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นต้น)
- สร้างระบบฐานข้อมูล : มีระบบการบันทึก จัดเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซ การใช้พลังงาน และดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้การติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ระบุแหล่งกำเนิดก๊าซ : สามารถระบุแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซ หรือกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซ
- จัดตั้งคณะทำงานที่เฉพาะเจาะจง : คณะทำงานเฉพาะที่รับผิดชอบในการดำเนินงานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน สื่อสาร จัดโปรแกรมที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- เน้นการมีส่วนร่วม : การมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานสนามบิน คู่ค้า/ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือในการหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- ครอบคลุมคู่ค้า/ผู้รับเหมา : ครอบคลุมการพิจารณาการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ สินค้าและบริการของคู่ค้า/ผู้รับเหมา ทำให้สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซได้ โดยการกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในข้อตกลง/สัญญาจ้าง เช่น ให้มีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
HTML::image(