องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) คาดการณ์ว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งทางอากาศในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณ CO2 ที่ปล่อยในปี 2015 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของการขนส่งทางอากาศโดยพบว่าสนามบินมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องบินระหว่างการขึ้นและลงจอด รวมทั้งกิจกรรมปฏิบัติการภาคพื้นต่าง ๆ จนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศนอกจากนี้กิจกรรมสนามบินยังส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น มลพิษทางเสียง ขยะ/ของเสีย สารเคมี น้ำเสีย และการใช้พลังงาน เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสนามบิน โดยเฉพาะนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) โดยฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมกิจการการบินพลเรือน (APD) ได้จัดโครงการสนับสนุนสนามบินในการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกิจกรรมสนามบิน และพัฒนาจากแนวคิด PDCA หรือ Plan-Do-Check-Act ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหา และทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ผ่าน 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุง (Act) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบินให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- Plan : การวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่ผู้บริหารกำหนดและสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันของสนามบิน ประกอบด้วย การกำหนดหรือทบทวนนโยบาย/เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนด/ทบทวน/ปรับเปลี่ยนบทบาท หน้าที่ให้มีความเหมาะสม การระบุ/ทบทวนประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และการกำหนด/ปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- Do : การควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและโปรแกรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดทำระบบเอกสารสารสนเทศและบันทึก การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
- Check : การตรวจสอบด้วยการตรวจประเมินภายในเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามข้อกำหนดของระบบ AIRPORT EMS การประเมินความสอดคล้องในการปฏิบัติตามกฎหมาย/ข้อกำหนดต่าง ๆ และประเมินผลการดำเนินงานจัดการสิ่งแวดล้อม
- Act : การปรับปรุง/แก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทบทวนระบบฯ และกำหนดแนวทางพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยผู้บริหาร
การจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) จะมีส่วนช่วยให้สนามบินสามารถป้องกัน ควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอันประกอบด้วย
- ผู้บริหารสนามบิน : แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามแนวทางของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) กำหนดทิศทาง นโยบาย เป้าหมาย และให้การสนับสนุนการดำเนินงาน ติดตาม ทบทวนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- คู่ค้า/ผู้รับเหมา : ปฏิบัติตามข้อกำหนดการควบคุม ป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม ที่ระบุไว้ในข้อตกลง/สัญญา และให้ความร่วมมือในโปรแกรมและกิจกรรมสิ่งแวดล้อมของสนามบิน
- พนักงานสนามบิน : ปฏิบัติตามบทบาท หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภายใต้การดำเนินงาน AIRPORT EMS รวมถึงปฏิบัติงานตามระเบียบการป้องกัน ควบคุม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความร่วมมือในโปรแกรมและกิจกรรมสิ่งแวดล้อม
- ผู้โดยสาร : ให้ความร่วมมือในโปรแกรม และกิจกรรมสิ่งแวดล้อมของสนามบิน เช่น การแยกขยะ การประหยัดน้ำ/พลังงาน เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่จะได้รับจากการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) สามารถสรุปได้ดังนี้
- คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม จากการมีมาตรการป้องกัน ควบคุม และลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
- เกิดการคิดค้นนวัตกรรม และวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
- พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและประชาชนมีส่วนร่วมผ่านระบบการร้องเรียน
- ยกระดับจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของพนักงานและผู้ใช้บริการสนามบิน
HTML::image(