JCK ได้ประโยชน์จากสงครามกีดกันการค้า หนุนทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ล่าสุดคว้าผู้ผลิต PCB ยักษ์ใหญ่จากจีนและไต้หวันเข้ามาซื้อที่ดินในนิคม TFD เพื่อตั้งโรงงาน ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท เตรียมขยายเฟสใหม่ต้นปีหน้าบนพื้นที่ 1,300 ไร่ พร้อมให้บริการขายน้ำอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯ คาดจะสร้างรายได้ในส่วนนี้เสริมเข้ามาอีกราว 400 ล้านบาทต่อปี
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการ บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ JCK เปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเลคโทรนิคส์(PCB) ระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ บริษัท ยูนิไมครอน(ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มบริษัท เฉิงยี่ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ได้เข้ามาลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม TFD รวมกว่า 300 ไร่เพื่อก่อสร้างโรงงานที่จะย้ายฐานการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิคส์มายังประเทศไทย ซึ่งนอกจากทั้งสองบริษัทนี้แล้วคาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ก็จะก่อให้เกิดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในประเทศไทยอีกจำนวนมาก เฉพาะ 2 บริษัทดังกล่าวคาดว่าจะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศรวมกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมเป็นผลให้บริษัทสามารถปิดการขายนิคมอุตสาหกรรมTFD 2 ได้
"ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเป้าหมายของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบของการกีดกันการค้า แม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านการลงทุนอาจไม่จูงใจ สู้เวียดนามไม่ได้ แต่มีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้ลงทุนต่างประเทศ มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีและเพียงพอที่จะรองรับนักลงทุน ทำให้มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจของ JCK" นายอภิชัยกล่าว
JCK มีรายได้หลักจากการขายที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม TFD ปัจจุบันบริษัทได้เตรียมพื้นที่เพื่อขยายนิคมเฟสต่อไปอีกประมาณ 1,300 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบและสามารถขายที่ดินส่วนขยายได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2567 โดยจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายที่ดินได้เลย ทั้งนี้ บริษัทได้ประมาณการว่าจะขายที่ดินได้หมดภายใน 2 ปี นอกจากนี้ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบริษัทยังมีรายได้เสริมจากการให้บริการระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะจากการขายน้ำอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมผ่านบริษัทย่อย "เจซีเค ยูทิลิตี้" เพื่อให้บริการกับลูกค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มผู้ผลิต PCB ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมในการผลิตปริมาณที่สูง บริษัทตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 จะมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือสร้างรายได้ให้ปีละ 120 ล้านบาท โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าภายในปี 2572 จะมีรายได้จากค่าน้ำอุตสาหกรรมประมาณปีละ 400 ล้านบาท และยังมีรายได้จากค่าบริการระบบบำบัดน้ำเสียอีกส่วนหนึ่งด้วย
นายอภิชัยเปิดเผยต่อไปว่า ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทจะขายทรัพย์สินบางส่วนประเภทโรงงานให้เช่าให้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล หรือกอง TIREIT มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาทเศษ ก็จะทำให้ผลประกอบการปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว "ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 2,840 ล้านบาท มีกำไร 582 ล้านบาท และในปี 2567 ในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีรายได้รวม 1,900 ล้านบาท และมีกำไร 451 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลประกอบการในปี 2567 นี้เป็นที่น่าพอใจและน่าจะดีกว่าปี 2566" นายอภิชัยกล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit