KTIFF เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล ได้รับการสนับสนุนมุ่งมั่นสานสัมพันธ์ บทบาทใหม่วัฒนธรรมจีน-ไทย ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

18 Sep 2024

บริษัท Tailin Film and Television Culture ประเทศจีน และ บริษัท HOYA Media & Entertainment ร่วมกับสถาบันวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา บีอาร์ไอ โดยสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดแถลงข่าวการจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล (Kingdom of Thailand International Film Festival) ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2567 รวมทั้งการลงทุนและความร่วมมือในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและรองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แถลงถึงความสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ที่ส่งผลดีต่อประเทศไทย

KTIFF เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล ได้รับการสนับสนุนมุ่งมั่นสานสัมพันธ์ บทบาทใหม่วัฒนธรรมจีน-ไทย ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ว่า "ภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่เป็นสื่อบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละชนชาติ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน  ทำให้ประชาชนรู้จักวัฒนธรรมของกันและกันผ่านการชมภาพยนตร์ ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในการเสริมสร้าง"Soft Power" แล้ว ภาพยนตร์ยังเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก  ตัวอย่างที่ชัดเจนจากภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทย เช่น "Lost in Thailand"ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก  กระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้มิติของภาพยนตร์ในการส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์จากต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง"

"ส่วนความสัมพันธ์ด้านภาพยนตร์  ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ (MOU) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ในหลายด้าน เช่น การร่วมผลิตภาพยนตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตสาหกรรม การร่วมงานในเทศกาลภาพยนตร์ และการสนับสนุนการนำเข้าและออกอากาศภาพยนตร์ ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญหลายงานในจีน/ เช่น Beijing International Film Festival จากการเจรจาระหว่างกัน 2,468 ล้านบาท และ Shanghai International Film Festival จากการเจรจาระหว่างกัน 356 ล้านบาท ทั้งสองงานนี้เป็นเวทีที่สำคัญ ในการเปิดโอกาสให้ผู้กำกับและผู้ผลิตภาพยนตร์จากไทยได้แสดงผลงานของตนและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน  การเข้าร่วมในงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างสองประเทศ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมให้กับทั้งสองประเทศ รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและมีความเป็นสากล สนองต่อความต้องการของผู้ชมในหลายภูมิภาคทั่วโลก  เป็นการเปิดโอกาสให้คนจีนได้ชมภาพยนตร์ไทยหรือมีโอกาสขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น/ เช่นเดียวกัน การจัดเทศกาลภาพยนตร์จีนในประเทศไทย สามารถบอกเล่าเรื่องราวของประเทศจีน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เปิดโอกาสให้คนไทยได้ชมภาพยนตร์ประเทศจีนมากขึ้นด้วย" นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติม

นายนิธี  สีแพร  รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ว่า "ภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งภาพยนตร์ที่ยังอยู่ในความทรงจำ อาทิ  80 วันรอบโลก (Around the World in Eighty Days), The Beach ทำให้อ่าวมาหยา จังหวัดพังงา  หรือ Mother of the Bride ที่ฉายทาง Netflix โปรโมทภูเก็ต ให้นักท่องเที่ยวรู้จักไปทั่วโลก  หรือ Lost in Thailand ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาตามรอยภาพยนตร์  ในแต่ละปีจะมีภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ประมาณ 400-500 เรื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2024 มี 309 โครงการ มูลค่ารวม 4,155 ล้านบาท ซึ่งประเทศ 4 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินเดีย จีนและเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่น คือ ความหลากหลายของโลเกชั่นการถ่ายทำ  การอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน  บุคลากรด้านผลิตภาพยนตร์ที่มีทักษะและเป็นมืออาชีพ  เทคโนโลยีการถ่ายทำที่ทันสมัย  และยังมีสิทธิประโยชน์แก่กองถ่ายที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย  ประกอบด้สวยการคืนเงิน (Cash Rebate) 20-30%  โดยคืนเงิน 15% จากค่าใช้จ่ายที่ถ่ายทำในประเทศไทย มากกว่า 50 ล้านบาท ถ้าค่าใช้จ่ายการถ่ายทำมากกว่า 150 ล้านบาท จะได้รับเงินคืน 20%  และจะได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้นอีก อาทิ เพิ่มอีก 5% สำหรับการถ่ายทำที่มีคุณภาพ   เพิ่มอีก 5% สำหรับการส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยหรือซอฟต์พาวเวอร์  เพิ่มอีก 3% จ้างทีมงานฝายผลิตชาวไทยในตำแหน่งสำคัญ  เพิ่มอีก 3% สำหรับการถ่ายทำในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลต้องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มอีก 2% สำหรับการถ่ายทำและขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post Production)"

"ส่วนธีมแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทย ปี 2025 เป็นปี "Amazing Thailand Grand Tourism Year" โดยมุ่งส่งเสริม "เสน่ห์ไทย"และ"เมืองน่าเที่ยว" ซึ่งเสน่ห์ไทย ประกอบด้วย Must Taste (อาหารไทยและวิถีการกินของแต่ละภาค) Must Try (มวยไทยและศิลปะการต่อสู้) Must Buy (แฟชั่น ผ้าไทย และงานฝีมือ) Must Seek (สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ และเรื่องราวใหม่ๆ) และ Must See (เทศกาลและประเพณีทั่วไทย)" นายนิธี กล่าวเพิ่มเติม

นาย หลิว ไค่ (Mr. Kai Lui) ผู้ก่อตั้ง KTIFF และผู้ก่อตั้งบริษัท Tailin Film and Television Culture ประเทศจีน และ นางสาวอารยาภรณ์ แซ่ห่วง (Ms. Huang Ruoling) ผู้ก่อตั้ง บริษัท โฮย่า มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจและเป้าหมายของการจัดเทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล (Kingdom of Thailand International Film Festival) ชื่อย่อ KTIFF ที่มีความหมายต่อประเทศไทยและประเทศจีน ว่า "เทศกาลภาพยนตร์เป็นการแสดงถึง Soft Power ของแต่ละประเทศ และเป็นแรงผลักดันการพัฒนาวัฒนธรรมของประเทศเช่นกัน  โดยเฉพาะเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจะเป็นประสบการณ์ที่สามารถสร้างการยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่นำไปสู่การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน จนทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจของประเทศ เช่นกรณี Lost in Thailand" ที่นำพานักท่องเที่ยวชาวจีน เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย กว่า 2.5 ล้านคน  ประกอบกับประเทศไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดีที่สุดของประเทศจีน ในการส่งเสริมพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ แบบ Win-Win ตามนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt Road Initiative หรือ BRI) ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 โดยสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรไมตรีระหว่างไทยและจีนผ่าน KTIFF ตามแนวทาง 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'  รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน และ KTIFF มุ่งมั่นจะพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่าทางศิลปะ และกิจกรรมเชิงพาณิชย์รอบด้าน เพื่อก้าวไปสู่เทศกาลภาพยนตร์คลาส A ระดับโลก"

นาย หลิว ไค่ (Mr. Kai Lui) ได้กล่าวถึงเป้าหมายของเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF ว่า "ปี 2024 เป็นปีแรกที่จัดงานในประเทศไทย เพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนไทยครบรอบ 50 ปี   ปี 2025 เป็นการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนไทยครบรอบ 50 ปี (50th Anniversary's Celebration of the establishment of Diplomatic Relations between China and Thailand) และส่งเสริมวัฒนธรรมระหว่างกัน   ปี 2026 เป็นขยายสู่ประเทศอาเซียน (Southeast Asia Theme) ปี 2027 เป็นธีมญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (Japan-South Korea Theme) เพื่อนำไปสู่การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ในปี 2027 ด้วยธีมเอเชีย (Asia Theme) ซึ่งเป็นการวางแผน 5 ปีแรกที่จะสร้างเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF ไปสู่เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนลระดับคลาส A ต่อไป ซึ่งการก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและพันธมิตรเข้าร่วมคิดสร้างโอกาสร่วมกัน  นอกเหนือจากเป็นเวทีให้ผู้สร้างภาพยนตร์แสดงความสามารถแล้ว  ความร่วมมือระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์   ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์  การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและงานศิลปะ  การสนับสนุนนโยบายรัฐบาล  จัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพ   ยังเป็นแนวทางของ KTIFF ด้วย  และขอขอบคุณ Mr. Li Check To (HKIFFS), Ms. Fang Meibao, ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ China Golden Rooster & Hundred Flowers Film Festival (CGRHFFS), ด็อกเตอร์ Mr. Shi Chuan แห่งสถาบันการแสดงเซียงไฮ้ (Shanghai Theatre Academy : STA), Mr.Yuan Hang & Ms. Zhu Mengwei บริษัท AVBI มีเดีย จำกัด, Ms. Guo Hang บริษัท Yugao Yishan Media,  Mr. Little Cat Hongkong Singger,  COSBALL Korea, Mr. Yin Zhiyue ZERO G,  นักแสดงจีน Tianying Qi,  Mr. Cheng Cheng + Star Makeup Company, Chaoran

นางสาวอารยาภรณ์ แซ่ห่วง (Ms. Huang Ruoling) กล่าวถึงรายละเอียดของเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF ว่า"การจัดงาน KTIFF 2024 เป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2567 ที่ SF World Cinema Central World โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีอัตลักษณ์ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม  การท่องเที่ยว และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งแนวทางดั้งเดิมและนวัตกรรม  ส่งเสริมการบูรณาการภาพยนตร์ สคริปต์ เกม RPG และเพลง เพื่อสร้างตลาด Immersive  รวมถึง ยกระดับการพัฒนาระบบนิเวศภาพยนตร์และโทรทัศน์จีน-ไทย การพัฒนาความสามารถและทักษะบุคลากร  ทำให้เพิ่มโอกาสการจ้างงานการลงทุน รวมทั้ง บูรณาการวัฒนธรรมข้ามชาติ  ที่กระตุ้นนวัตกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงการจัดกิจกรรมภาพยนตร์ไทย-จีนใน 10 มณฑลหลักของจีน  สร้างฐานการถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างทีมสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ และเพิ่มพลังใหม่ๆ ให้กับตลาดจีน ยกระดับแพลตฟอร์มภาพยนตร์และโทรทัศน์ร่วมระหว่างจีน-ไทย รวมถึง ร่วมกันผลิตภาพยนตร์  ภาพยนตร์สั้น รายการเรียลลิตี้  รายการวาไรตี้  ตัวแทนร่วมจีนไทย (Sino-Thai Brokerage)  เพื่อหาบุคลากรใหม่ๆ ที่มีความสามารถ ทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ นักแสดง และผู้กำกับหน้าใหม่  ซึ่งเป็นเลือดใหม่เข้าสู่วงการภาพยนตร์

นางเกศี จันทราประภาวัฒน์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร สนับสนุนเทศกาล KTIFF ว่า  "กรุงเทพมหานครผ่านการรับรองจากองค์กร 'ยูเนสโก' (UNESCO) ให้เป็น UNESCO Creative City และ City of Design ที่มีความสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านวรรณกรรม, ภาพยนตร์, ดนตรี, หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน, ศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์, วิทยาการอาหาร และการออกแบบ  และเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของโลก และติดอันดับต้นๆ มาโดยตลอด  รวมทั้ง ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์อันดับหนึ่งของประเทศไทยสำหรับกองถ่ายต่างประเทศอีกด้วย  นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครก็ยังสนับสนุนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์หลากหลายเทศกาล อาทิ เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2566  กรุงเทพมหานครจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมสนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล หรือ KTIFF จะเป็นอีกหนึ่งเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร"

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล นายกสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน (Thai-China One Belt One Road Investment Trade Association) และประธานสถาบันวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา บีอาร์ไอ (BRI Institute of Research Development on Economics and Education) กล่าวถึงความร่วมมือว่า "พันธกิจของสมาคมฯและสถาบันฯ คือ ร่วมสร้างโอกาสเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมไทย-จีน สู่ความมั่งคั่งมั่นคงร่วมกัน (To Co-create Opportunities of BRI Connectivity towards Mutual Prosperity)" โดยสมาคมฯและสถาบันจะเป็นศูนย์กลางประสานงานเชื่อมโยงให้คำปรึกษา  และแนะนำโอกาสธุรกิจการค้าการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยกับประเทศจีนและประเทศบนเส้นทางสายไหม โดยประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐบาล เอกชน และองค์กรต่างๆ  รวมทั้ง การทำวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมด้วย   ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF  ที่เป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน และขยายไปสู่ประเทศในอาเซียน สู่ประเทศในทวีปเอเชีย และเป็นเทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนลระดับโลกในอนาคต"

ผศ. มานินทร์ เจริญลาภ  คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงความร่วมมือกับเทศกาล KTIFF ด้านการศึกษาว่า "มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรทางด้านภาษาจีนและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาคการศึกษาประเทศจีนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนสื่อสารธุรกิจหลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตร 2+2 เรียนที่มหาวิทยา ลัยศรีปทุม 2 ปี และ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยซีอาน อีก 2 ปี  ในส่วนของคณะนิเทศศาสตร์ มีสาขาภาพยนตร์ และ สื่อดิจิทัล มีนักศึกษาเรียนเฉพาะสาขาภาพยนตร์อย่างเดียว กว่า 2,000 คน และผลิตบัณฑิตสาขาภาพยนตร์ ปีละ 400 คน มีผลงานรางวัลการผลิตภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง และ มีการจัดทำหนังสั้น ปีละกว่า 20 เรื่อง เพื่อฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นที่จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมเอง ชื่อ เทศกาล "ฉายหนัง" ที่ โรงภาพยนตร์ SF Cinema    นอกจากนี้ คณะนิเทศศาสตร์ ยังมีสาขาสื่อสารการแสดง  ซึ่งผลิตบุคลากรทั้งเบื้องหน้า คือ นักแสดง และ ผลิตบุคลากรเบื้องหลัง ที่ครอบคลุม ทั้งการ Casting, Costume, Make up, การออกแบบฉาก และ การกำกับ  ส่วนสาขาดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยได้ผลิตนักศึษา ด้านการทำ Special Effect สำหรับภาพยนตร์    รวมทั้งงานด้าน Organize งาน คณะนิเทศ ยังมีส่วนงานที่ชื่อว่า SIM Agency สามารถดูแลเรื่องการ Organize งานต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพ   ซึ่งทุกภาคส่วนของ มหาวิทยาลัยศรีปทุมและคณะนิเทศศาตร์ มีพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งด้านบุคลากร นักศึกษา องค์ความรู้ และ ผลงาน รวมถึงด้านอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF เป็นไปด้วยดี และประสบความสำเร็จ ตามแผนงานที่วางไว้"

CEO BAI BINGBING บริษัท FB Culture Communication จำกัด นักลงทุนจากจีนที่ร่วมงานและร่วมสนับสนุน กล่าวถึงเทศกาลภาพยนตร์ KTIFF ว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามมาก และเป็นประเทศที่น่าลงทุนพัฒนา ในอนาคตหวังว่ามีโอกาสได้ร่วมมือกันพัฒนาประเทศไทยจากโครงการ KTIFF ผมหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ เกมส์คริปต์ จะได้สามารถนำความบันเทิงเข้ามาให้กับคนหนุ่มสาวในประเทศไทย"

Mr. Ho Zaijian, Person In Charge of MAHUA FUN AGE  กล่าวว่า "เทศการภาพยนตร์ อินเตอร์เนชั่นเนล ไทยแลนด์ เฟสติเวิล (KTIFF) เป็นของขวัญที่สุดสำหรับงานฉลองครบรอบ 50 ปีกับความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน โดยไทยเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญสำหรับความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และการค้าของทั้งสองประเทศ การสนับสนุนที่แข่งแกร่งจากภาครัฐไทย ทำให้ KTIFF มีโอกาสเป็นสื่อกลางมากขึ้นในการช่วยการสื่อสาร และหวังว่า MAHUA FUN AGE จะได้มีโอกาสเข้ามาในเมืองไทย และนำหนังComedy ไทยไปเปิดตลาดที่จีน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางธุรกิจผ่านวัฒนธรรม เพื่อให้บรรลุการร่วมมือกันแบบ Win-Win"

เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล (Kingdom of Thailand International Film Festival : KTIFF) จัดโดยบริษัท Tailin Film and Television Culture ประเทศจีน และ บริษัท HOYA Media & Entertainment ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมจีน-ไทย และพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า และการศึกษา รวมทั้ง เป็นการฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน กำหนดจัดระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2567

 

KTIFF เทศกาลภาพยนตร์อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ เฟสติวัล ได้รับการสนับสนุนมุ่งมั่นสานสัมพันธ์ บทบาทใหม่วัฒนธรรมจีน-ไทย ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน