ภายใต้นโยบายการกำกับกิจการที่ดี ส่งเสริมสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานองค์กร
นางสาวจินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึง นโยบายการดำเนินงานขององค์กรเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง ESG ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment ) ดูแลพัฒนาสังคม (Social) ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ล่าสุดบริษัทฯ ได้ตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กร ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง และลูกจ้าง
มีหน้าที่ในการพิจารณานโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน รายงาน และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และตรวจสอบสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น พร้อมวางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้างทุกคนทุกระดับต้องปฏิบัติ รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
โดยให้เป็นไปตามกฎกระทรวงบริหารการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ สำหรับ อิมแพ็ค ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 500 คน ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์ต้องให้มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 11 คน โดยมีนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างระดับบริหารเป็นประธาน ทำงานร่วมกับ ผู้แทนนายจ้างระดับบัญชา ผู้แทนลูกจ้าง 5 คนเป็นกรรมการ และมี จป.เทคนิคขั้นสูงหรือจป.วิชาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งหมด 15 คน และมีวาระการทำงาน 2 ปี (2567-2568)
นายวัชระ จันทระโสภา หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการ ในฐานะประธาน คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ขององค์กร กล่าวเสริมถึงหน้าที่ของทีม คปอ. อิมแพ็ค เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 12 ข้อ ได้แก่
1.) จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเสนอต่อนายจ้าง
2.) จัดทำแนวทางการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
3.) รายงานและเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้างเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมาและบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
4.) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
5.) พิจารณาคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
6.) สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงานและรายงานผลการสำรวจดังกล่าว รวมทั้งสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้น ในการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทุกครั้ง
7.) พิจารณาโครงการหรือแผนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงโครงการหรือแผนการอบรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของลูกจ้าง หัวหน้างาน ผู้บริหาร นายจ้างและบุคลากรทุกระดับเพื่อเสนอความเห็นต่อนายจ้าง
8.) จัดวางระบบให้ลูกจ้างทุกคนทุกระดับมีหน้าที่ต้องรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต่อนายจ้าง
9.) ติดตามผลความคืบหน้าเรื่องที่เสนอต่อนายจ้าง
10.) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งระบุปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย เมื่อปฎิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีเสนอต่อนายจ้าง
11.) ประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
12.) ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความปลอดภัยฯ คปอ. ถือเป็นทีมผู้ผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงานเพื่อให้ทุกคนในบริษัทฯ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยปราศจากอันตราย และบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร คือ การลดอุบัติเหตุในพื้นที่ให้เป็น 0 นั่นเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit