ทีม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เฝ้าระวังภาคอีสาน หลังแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

17 Sep 2024

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีม SEhRT ทั่วประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เฝ้าระวังสุขภาพประชาชน และเตรียมความพร้อมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน หลังพบสถานการณ์แม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น จากฝนที่ตกหนักติดต่อกัน พบ 5 อำเภอ ในจังหวัดหนองคายได้รับผลกระทบ พื้นที่ดำเนินการเปิดศูนย์พักพิง รองรับผู้ประสบภัย จำนวน 12 แห่ง

ทีม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เฝ้าระวังภาคอีสาน หลังแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

วันนี้ (17 กันยายน 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ทันตแพทย์ดำรง ธำรงเลาหะพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข นายแพทย์พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี นายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และ ระดมทีม SEhRT จากศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรราชธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำโขง และปริมาณฝนที่ตกหนักเกินค่าเฉลี่ยส่งผลกระทบในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมือง และอำเภอรัตนวาปี ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์พักพิง สำหรับรองรับประชาชนที่ประสบภัยจำนวน 12 แห่ง และหน่วยงานสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ 12 แห่ง กรมอนามัย จึงได้ระดมบุคลากรทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือทีม SEhRT (Special Environmental health Response Team) ได้แก่ ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ร่วมกับทีม SEhRT ส่วนกลาง ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน

"ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สนับสนุน "ชุดเราสะอาด" (V-Clean) จำนวน 1,200 ชุด ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำสำหรับใช้ในศูนย์พักพิง และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่อไป นอกจากนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในภาวะน้ำท่วม การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในครัวเรือนและในศูนย์พักพิง พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงน้ำท่วม โดยแนะนำประชาชนดูแลสุขอนามัยที่ดี ด้วย 5 วิธีปฏิบัติตนดูแลสุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม ดังนี้ 1) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด โดยหมั่นสังเกตอาหารที่มาบริจาคและน้ำดื่มทุกครั้ง2) กรณีห้องส้วมใช้งานไม่ได้ให้ใช้ส้วมฉุกเฉิน เช่น ส้วมกระดาษแทนได้ โดยขับถ่ายใส่ในถุงดำ โรยปูนขาว มัดปากถุงให้แน่น รวบรวมเก็บไว้แล้วรอนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เสี่ยงน้ำเน่าเสียและเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค 3) หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ เสี่ยงเชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ และหลังเดินลุยน้ำ ต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง 4) ป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคเข้าในบ้าน เช่น นอนกางมุ้งป้องกันยุง จัดบ้านเป็นระเบียบป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยในบ้าน และ 5) มีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี ป้องกันโรค ด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์ หากไม่มีน้ำสะอาด และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว