Let hER Smile รอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ก้าวต่อไปของ…ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม!

21 Nov 2023

"โรคมะเร็งเต้านม" เป็นชนิดของโรคมะเร็งอันดับ 1 ที่พบในผู้หญิงไทย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบว่า
มีผู้หญิงป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมจำนวนกว่า 38,559 ราย และจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง
เต้านมระยะแพร่กระจายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมในการรักษามะเร็งเต้านมมากมาย แต่การแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ความก้าวหน้าเกี่ยวกับโรคมะเร็งให้แพร่หลาย ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยนี้เอง ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมจัดงานรณรงค์เผยแพร่ความรู้ผ่านนิทรรศการภายใต้คอนเซ็ปต์ Let hER Smile "รอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ก้าวต่อไปของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม" เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจในโรคมะเร็งเต้านมให้กับผู้ป่วยและสังคม ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในระยะแพร่กระจาย ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

Let hER Smile รอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ก้าวต่อไปของ…ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม!

สร้างรอยยิ้ม ความหวัง และพลังใจ เพื่อก้าวต่อไปของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

นิทรรศการโรคมะเร็งเต้านมในคอนเซ็ปต์ Let hER Smile "รอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ก้าวต่อไปของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม"
จัดขึ้นที่เดอะริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา กรุงเทพฯ โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจ กระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติแสดงปาฐกถาพิเศษ ไฮไลต์ในงานนี้ชูพลังการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบ Immersive Digital Art ผลงานศิลปะที่สะท้อนการเดินทางของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จากจุดเริ่มต้นที่ตกอยู่ในสภาพที่มืดมน กลัว กังวล และท้อแท้
เมื่อพบว่าตนเองเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะในระยะแพร่กระจาย ซึ่งด้วยการสื่อสารด้านสุขภาพที่ก่อให้เกิดการตระหนักถึงความก้าวหน้าในการรักษา นำไปสู่ทางเลือกและประตูแห่งความเป็นไปได้ โดยมีผลงานศิลปะจากฝีมือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบอกเล่าแรงบันดาลใจในชีวิตผ่านงานศิลปะนามธรรม "Smile and Hope" ที่จะทำให้ผู้เยี่ยมชมได้รู้สึกเหมือนตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน ได้มีส่วนร่วม มีปฏิสัมพันธ์กับผลงานที่ต่างจากกรอบเดิม ๆ รวมถึงโซนให้ความรู้ในแบบ Interactive ร่วมด้วยการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือทางวิชาการในการร่วมกันแปลคู่มือสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจากต้นฉบับของสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งสหภาพยุโรปให้เป็นภาษาไทย การเผยแพร่ความรู้ผ่านการเสวนาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนผู้ป่วย กิจกรรมแนะนำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การเย็บเต้านมเทียม เพื่อสร้างความเข้าใจในโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่ถูกต้อง และร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย บนเส้นทางการรักษาที่มีรอยยิ้ม ความหวัง และกำลังใจจากคนรอบข้าง

ยานวัตกรรมและแนวทางการรักษาใหม่ ความหวังที่ดีต่อกายและใจมากขึ้น

มะเร็งเต้านมระยะลุกลามแพร่กระจายสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1. มะเร็งชนิดติดตัวรับทางฮอร์โมน (ER Positive Tumor) ซึ่งมีการพยากรณ์โรคดีที่สุด 2. มะเร็งชนิด HER2 Positive มีการแสดงออกของยีนก่อมะเร็ง HER2 เป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่การพยากรณ์โรคดีเป็นอันดับสอง และ 3. มะเร็งชนิด Triple Negative ที่ไม่ติดตัวรับใด ๆ เลย เป็นชนิดที่การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด ต้องใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษา

"เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ผู้ดูแลถึงชนิดและระยะของโรค แนวทาง การรักษาที่เหมาะสม และซักถามในข้อสงสัยต่าง ๆ ก่อนเริ่มต้นการรักษา สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษามะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจายอยู่ที่แพทย์และผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจจุดประสงค์ในการรักษาร่วมกัน แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยนวัตกรรมการรักษาที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษา ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมโรคได้นานขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย" ผศ. พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ อุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเต้านม อธิบายว่า "การรักษาบางชนิดมีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งต่างจากเคมีบำบัดที่มีผลข้างเคียงมาก เช่น ในมะเร็งชนิดติดตัวรับทางฮอร์โมน มีการใช้ยาต้านฮอร์โมน ควบคู่กับยาพุ่งเป้าที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง เมื่อใช้คู่กันทำให้ควบคุมโรคได้นานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และแม้จะผ่านการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนแล้ว ยังสามารถใช้ยาเคมีบำบัดควบคุมโรคได้ ซึ่งการเข้าถึงการรักษาแบบใหม่ ๆ จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอายุยืนยาวได้อย่างน้อย 4-5 ปี"

ปัจจัยสำคัญที่ต้องรู้..เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง (ร้าย) ในระยะแพร่กระจาย

นอกจากนวัตกรรมการรักษา ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่ผู้ป่วยควรรู้ ประกอบด้วย
1.ชนิดของมะเร็ง ว่ามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร 2. ลักษณะของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง สามารถรับการรักษา
ได้อย่างต่อเนื่อง การรักษาก็จะได้ผลดี โดยอายุไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเท่าความแข็งแรงของร่างกาย แต่ในผู้ป่วยที่มีอายุมากจำเป็นต้องระวังโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น เพราะอาจไม่สามารถให้ยาบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ 3. การเข้าถึงการรักษาและยานวัตกรรม หากผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะกับโรคอย่างเต็มที่ ก็จะสามารถควบคุมโรคได้ดีมากยิ่งขึ้น และมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

"หากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ก็ไม่อยากให้ถอดใจหรือท้อแท้ เพราะในทุกระยะของการรักษาผู้ป่วยยังคงมีความหวัง" ศ. ดร. นพ. พรชัย โอเจริญรัตน์ ศัลยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งเต้านม และไทรอยด์ โรงพยาบาลเจ้าพระยา บอกเล่าด้วยรอยยิ้มและเสริมต่อว่า "ปัจจุบันเรามีวิวัฒนาการของยาและการรักษาใหม่ ๆ เช่น ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยาฮอร์โมนบำบัด เคมีบำบัด ซึ่งมีหลายสูตรและได้ผลดีในการรักษา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยยืดระยะเวลาการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ป่วย แม้มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายจะมีโอกาสหายโดยไม่มีมะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกายเพียง 4% แต่จากสถิติผู้ป่วยในระยะนี้ มีสัดส่วนถึง 20% ที่สามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 10 ปี หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครบถ้วน การตัดสินใจไม่รักษาหรือเลือกรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่ดีที่สุดในการรักษา เมื่อกลับมารักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันในภายหลัง ก็อาจเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามและแพร่กระจายออกไปกว่าเดิม ซึ่งจะลดโอกาสในการยืดระยะเวลาการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ใช้ศิลปะสร้างสรรค์ส่งต่อความรู้ และจัดทำคู่มือสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

น.ส.ไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บายไอรีล กล่าวว่า "Let hER Smile เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มุ่งสร้างรอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ให้เพื่อน ๆ ผู้ป่วย และผู้เข้าชมมองเห็นโอกาส และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ให้พร้อมก้าวไปข้างหน้าด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเปิดมุมมองในการรักษามะเร็งเต้านมให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแล และคนในสังคม ให้เห็นโอกาสและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษา ผ่านสื่อศิลปะสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจในนวัตกรรมการรักษาใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตตลอดช่วงอายุภายใต้การรักษาโรคให้ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเราพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไทยยังขาดการเข้าถึงองค์ความรู้ และแนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วย มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล จึงร่วมกันแปลคู่มือสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฉบับภาษาไทย โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในช่วงต้นปี 2567"

ร่วมพลัง…ส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

"อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าเราต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนัก ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมให้มากขึ้น บริษัท โนวาร์ตีสให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและความต้องการของผู้ป่วย เรามุ่งมั่นทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อร่วมกันเติมเต็มช่องว่างบนเส้นทางการรักษาโรค การจัดงานนิทรรศการโรคมะเร็งเต้านม Let hER Smile เป็นการถ่ายทอดความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และทำให้เส้นทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเต็มไปด้วยความหวังและรอยยิ้ม" เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวทิ้งท้าย

Let hER Smile รอยยิ้ม ความหวัง พลังใจ ก้าวต่อไปของ…ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม!