ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินชีวิตของประชาชนและเป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำ ทะเล และทรัพยากรแร่ ก็คือปัจจัยในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ แต่ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจมากเท่าไร หากใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ระมัดระวัง ประเทศไทยก็เผชิญกับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในหลายภูมิภาคได้ จากการประเมินของนักวิชาการ มนุษย์ใช้ทรัพยากรไปมากกว่าที่ควรจะเป็นกว่า 1.7 เท่า และประเทศไทยก็ถูกประเมินว่าใช้ไปกว่าร้อยละ 85 แล้ว
ดังนั้นวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี นับว่าเป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลก ได้ทวีมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ไปอย่างสิ้นเปลื้อง ส่งผลให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมและหมดไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเกิดปัญหามลพิษที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง
เว็บไซต์สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) นำเสนอข้อมูลผ่านบทความวันสิ่งแวดล้อมไทย ว่า World Economic Forum (2023) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่ามีความเสี่ยง 4 อันดับแรก เป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1) ความล้มเหลวในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) ภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และ 4) ความล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ
จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินงานป้องกัน ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนปรับเปลี่ยนการะบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก การปลูกจิตสำนึก การเข้าถึงข้อมูลด้านด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ที่ถูกต้อง และการบรรจุหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่เยาวชนไทยจะรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนวทางการจัดการปัญหาจึงเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ได้ทำในอดีตและวันนี้จะส่งผลกระทบไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานเหลนในอนาคต นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์เหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตเพื่อหาแนวทางหรือมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า คือการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย เรามีปัญหาเดิมที่ยังไม่ก้าวข้าม เช่น PM 2.5 ขยะมูลฝอย น้ำเสีย เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาใหม่ที่ประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำอย่างไรไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และปรับตัวให้อยู่ได้กับการเปลี่ยนแปลง และความแปรปรวน สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงได้อย่างไร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้อย่างไร รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ที่จะเป็นข้อตกลงฉบับใหม่ของโลกในอีก 1 ปีข้างหน้า เราเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องร่วมกันในการแก้ไขให้ครบวงจร
ทั้งนี้ วันสิ่งแวดล้อมไทย ถูกกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อการอยู่อาศัยของประชาชน และสำหรับกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย 2566 หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดขยะ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชุมชน การปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต่างๆรวมทั้งยังเป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติด้วย เพื่อส่งเสริมพลังอาสาและชุมชนในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประชาชน
ผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและ คุณพรนภา กิจรุ่งโรจนาพร เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit