นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพพร้อมตั้งข้อสังเกตสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีหมอชิต ไม่มีประตูกั้นบริเวณชานชาลา โดยกังวลช่วงเวลาที่ผู้โดยสารหนาแน่นอาจเกิดอุบัติเหตุเบียดกันตกลงไปในรางได้ว่า ประตูกั้นชานชาลาบริเวณสถานีรถไฟฟ้า (Platform Screen Door : PSD) มีลักษณะเป็นประตูรั้วกั้นสูงประมาณ 1.50 เมตร มีชุดมอเตอร์ขับเคลื่อนอยู่ด้านข้างของบานประตูเลื่อน มีการเปิด-ปิดในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ดังนี้
(1) ส่วนสัมปทาน (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม ตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน) ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไว้แต่แรก อย่างไรก็ตาม กทม.และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ผู้รับสัมปทานให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเป็นลำดับแรก จึงได้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาดังกล่าว ซึ่งจะพิจารณาจากสถานีที่มีผู้โดยสารหนาแน่น
ปัจจุบันติดตั้งแล้วจำนวน 11 สถานี ได้แก่ สถานีสยาม สถานีพญาไท สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีชิดลม สถานีอโศก สถานีพร้อมพงษ์ สถานีอ่อนนุช สถานีศาลาแดง สถานีช่องนนทรี สถานีทองหล่อ และสถานีสุรศักดิ์ โดยใช้งบประมาณของ BTSC เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาติดตั้งประตูกั้นชานชลาเพิ่มเติมให้ครบทุกสถานีในส่วนสัมปทาน
(2) ส่วนต่อขยายที่ 1 (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีบางจาก - สถานีแบริ่ง และสายสีลม ตั้งแต่สถานีกรุงธนบุรี - สถานีบางหว้า) จำนวน 11 สถานี ปัจจุบันยังไม่มีการติดตั้ง ซึ่ง สจส.มีแผนการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาให้ครบทั้ง 11 สถานี โดยขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 เพื่อดำเนินการ และ (3) ส่วนต่อขยายที่ 2 (สายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานีคูคต (เขียวเหนือ) และตั้งแต่สถานีสำโรง - สถานีเคหะสมุทรปราการ (เขียวใต้)) จำนวน 25 สถานี ได้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาครบทั้งหมดแล้ว
นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ บนสถานี อาทิ การตรวจสอบการปฏิบัติงานและการจัดการบนสถานี เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน การจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อสอดส่องดูแลไม่ให้ผู้โดยสารยืนล้ำเส้นสีเหลืองบนชั้นชานชาลา และติดตั้งปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุคนล้มลงไปในราง ขณะเดียวกันจะได้มีหนังสือแจ้ง BTSC เพื่อขอให้พิจารณาติดตั้งประตูกั้นชานชาลาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนสัมปทานให้ครบทุกสถานี โดยเร่งพิจารณาติดตั้งจากสถานีที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมากก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานรถไฟฟ้าในการสัญจรต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit