นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กทม.ได้กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงเรียนในสังกัดและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาและคณะกรรมการชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยห้ามมิให้บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงผู้มาติดต่อกิจธุระมี หรือครอบครองสารเสพติดทุกประเภทที่กฎหมายระบุ มิให้ทำร้าย หรือรังแก จัดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอาวุธ รวมถึงการจัดการจราจรโดยรอบสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ขณะเดียวกันได้จัดให้มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเครื่องมือการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้รัดกุม เหมาะสม สำหรับการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคล ได้จัดให้มีกล้อง CCTV เพียงพอครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งบริเวณรอบโรงเรียน พื้นที่การใช้งานในโรงเรียน จุดอับต่าง ๆ และตรวจสอบการใช้งานให้เป็นปกติสม่ำเสมอ รวมถึงจะเพิ่มจุดในห้องเรียนด้วย โดยจะเพิ่มระบบวิเคราะห์ภาพพิสูจน์บุคคลยืนยันตัวตนของผู้ปกครองที่จะเข้ามาในบริเวณโรงเรียนทุกจุดทางเข้า-ออกต่อไป
สำหรับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในพื้นที่สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ต้องได้รับการตรวจ สอบถาม รวมถึงการแสดงตนอย่างเคร่งครัดทุกราย ส่วนสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จะต้องปิดประตูในระหว่างเวลาเรียนตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องสอบถามบุคคล ตลอดจนยานพาหนะที่จะผ่านเข้าบริเวณสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมทั้งติดตั้งระบบเตือนภัยในจุดที่เหมาะสมในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อแจ้งเตือนเป็นส่วนรวมเมื่อเกิดเหตุการณ์บุกรุกในลักษณะเดียวกับการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ นอกจากนั้น ได้จัดให้มี "ประตูทางออกฉุกเฉิน" ของสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากช่องทางปกติ รวมถึงจัดซักซ้อม อบรม ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทุกภาคเรียน หรืออย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง โดยเฉพาะ "เส้นทาง" การออกจากพื้นที่เกิดเหตุและจัดทำลูกศรชี้ทิศทางการอพยพเคลื่อนย้ายเด็กนักเรียน
นอกจากนี้ สนศ.ได้จัดโครงการเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ (Open Education) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๖ เพื่อให้นักเรียนมีพื้นที่ทำกิจกรรมทั้งในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน (After School) และในช่วงวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) (Saturday School) ด้วยการใช้พื้นที่ของโรงเรียนจัดกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน เช่น กีฬา นันทนาการ ทำอาหาร เสริมทักษะความรู้ กิจกรรมสอนเอาตัวรอด เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก มีทัศนคติแบบเติบโต หรือ Growth Mindset รวมถึงการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนภายในบริเวณโรงเรียน มีบุคลากรดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาของกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม จากเหตุดังกล่าว กทม.มีความห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนสังกัด กทม. ตลอดจนผู้ปกครอง และเพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในสถานศึกษา กทม.ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยให้โรงเรียนสังกัด กทม.ถือปฏิบัติและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายการศึกษา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนอาสาสมัครกวดขัน ย้ำเตือน กำกับดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย ตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด ขณะเดียวกันบุคลากรในสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ทันทีกรณีเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น รวมทั้งประสานชุมชนบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงฝ่ายเทศกิจ สถานีตำรวจ และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยแจกเอกสาร พบปะสนทนา เพื่อสร้างแนวร่วมการแจ้งเตือนทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเหตุฉุกเฉิน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit