นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ลำไยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพในการผลิตสูง ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนลำไย จำนวน 253,147 ครัวเรือน เนื้อที่ยืนต้น 1,738,506 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,693,261 ไร่ และผลผลิต 1,555,360 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 919 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลัก และภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เพาะปลูกรอง สำหรับภาคตะวันออกมีพื้นที่ผลิตลำไยใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง และจังหวัดชลบุรี มีเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคตะวันออก จำนวน 24,837 ครัวเรือน เนื้อที่ยืนต้น 377,762 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 376,703 ไร่ ผลผลิต 479,347 ตัน โดยเป็นการผลิตนอกฤดูทั้งหมด โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม และช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม โดยในปี 2566 นี้ สภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ลำไยติดผล แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ลำไยสลัดลูกทิ้งเมื่อขาดน้ำ และไม่สามารถทนทานต่อความร้อนที่สูงขึ้นเป็นระยะยาว ช่อผลที่กำลังพัฒนามีการหยุดชะงัก ผลเล็กไม่เจริญเติบโต หรือผลที่เติบโตเต็มที่แล้วจะมีอาการผลแตกในช่อผลได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไย โดยเฉพาะผู้ผลิตลำไยนอกฤดูในภาคตะวันออกที่ใกล้เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมนี้ หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด โดยเกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งลำไยได้บริเวณใบ ยอดอ่อน ช่อดอก และผล ตั้งแต่ระยะแทงตาดอกไปจนถึงผลแก่ ซึ่งเพลี้ยแป้งมักอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงในบริเวณส่วนต่าง ๆ ดังกล่าว โดยมีมดเป็นพาหะช่วยเคลื่อนย้ายไปและทำให้การระบาดรุนแรงมากขึ้นได้ ทั้งนี้ หากระบาดรุนแรงจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเหี่ยวแห้ง และเพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลหวานซึ่งเป็นแหล่งอาหารของราดำ ทำให้ราดำเจริญเติบโตปกคลุมส่งผลให้ลำไยเสียคุณภาพ
สำหรับ การควบคุมและป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงทุก 7 วัน พร้อมกับกำจัดมด โดยใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว หรือชุบสารกำจัดแมลง ได้แก่ มาลาไทออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่โคนต้นและวัสดุค้ำยันต่าง ๆ และหากพบรังมดในแปลงปลูก ควรใช้เหยื่อพิษกำจัดมดโดยเร็ว รวมทั้งกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกด้วย โดยเฉพาะแห้วหมูและหญ้าคาเนื่องจากเป็นพืชอาศัยของเพลี้ยแป้ง โดยให้ถอนต้นและขุดเหง้าที่อยู่ในดินออก หรือใช้สารฮาโลซัลฟูรอน-เมทิล 75% WG พ่นระหว่างแถว ในกรณีที่เริ่มพบการระบาดของเพลี้ยแป้งเล็กน้อย ให้ตัดส่วนที่พบไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก ใช้น้ำฉีดพ่นให้เพลี้ยแป้งหลุดออกไป หรือใช้ ไวท์ออยล์ หรือปิโตรเลียม ออยล์ อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในบริเวณที่พบการระบาด กรณีการระบาดรุนแรง ให้พ่นสารกำจัดแมลง ได้แก่ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 2.5 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 10 กรัม หรือมาลาไทออน 57% EC + ปิโตรเลียม ออยล์ 83.9% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร อย่างใดอย่างหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร แล้วพ่นสารอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 7 วัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit