มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา รพ.สต.บ้านหาร และรพ.สต.บ้านทุ่งชน ลงความร่วมมือด้านสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลไทยบุรีและตำบลหัวตะพาน
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้อำนวยการ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา รพ.สต.บ้านหาร และรพ.สต.บ้านทุ่งชน ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านบริการสุขภาพ ระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนางดุษฏี จันทร์พุ่ม ปลัดอบจ.นครศรีฯลงนามเป็นพยาน ท่ามกลางผู้บริหาร อสม. ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน อาคารจุฬาภรณเวชวัฒน์ รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวก ได้รับบริการคุณภาพ และถือเป็นต้นแบบเครือข่ายบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ (CUP Model) แห่งแรกของประเทศไทย ที่บริหารจัดการภายใต้ความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่โอนถ่ายมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งผลสำเร็จสู่ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของการบริการวิชาการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
โดยภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ในเขตพื้นรายรอบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งตำบลไทยบุรีและตำบลหัวตะพาน กว่า 10,000 คน ได้เข้าถึงบริการที่สะดวกและได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การทำข้อตกลงความร่วมมือการเป็น CUP (คัพ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนด้านบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานได้มีความร่วมมือกันบริหาร เครือข่ายบริการสุขภาพ และจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ เป็นที่ประทับใจให้กับทุกคนต่อไป
"โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นศูนย์การแพทย์ที่มีความทันสมัย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เป็นโรงเรียนแพทย์ระดับชั้นคลินิกและให้บริการประชาชนในระดับตติยภูมิ ซึ่งจากการเปิดให้บริการในปีแรก พบว่า มีผู้มาใช้บริการถึง 1.3 แสนคน" ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
ด้าน นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่บริการได้รับประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพ โดย อบจ.นครศรีธรรมราช พร้อมจะขับเคลื่อนนโยบายให้สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจะขับเคลื่อนงานและยกระดับการทำงาน ของ อสม.ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น