อธิบดี พช. มอบแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ พช. บุรีรัมย์ เน้นพอเพียง มีวินัย มีความสุจริต จิตอาสา
วันที่ 26 ตุลาคม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ชั้น 3 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายจำเริญ แหวนเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับ และมีนางสงวน มะเสนา ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวณัฐนิตย์ อินทะสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นางกนกอร โพธิ์สิงห์ พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์เข้าร่วมการประชุม
โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ มีบุคลากรทั้งสิ้น 152 คน มีพัฒนากรปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 89 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ โดยพัฒนากร 1 คน รับผิดชอบพื้นที่เฉลี่ยคนละ 28 หมู่บ้าน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายภารกิจในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนใน 10 ประเด็น ดังนี้ ให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะทำงาน และอาสาสมัครจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ให้เป็นปัจจุบัน ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการร้านค้าให้มาลงทะเบียนใน Application Click ชุมชน เพื่อรองรับนโยบาย Digital wallet ของรัฐบาล ให้เพิ่มการปลูกดอกไม้โดยเฉพาะดอกไม้ที่ไล่แมลงในแปลงผักสวนครัวเพื่อลดการใช้สารเคมีและเพื่อความสวยงาม ส่งเสริมให้เครือข่ายโคกหนองนาพัฒนาชุมชนไปเชื่อมโยงกับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมการผลิตสู่ตลาดชุมชนทุกระดับ บริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้ลดลงโดย จากระดับ 10 ของประเทศเป็นระดับ 5 ของประเทศภายในปี 2567 ส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสวมใส่ผ้าไทยเน้นการผลิตตามความสามารถให้ครัวเรือนที่เข้มแข็งกว่าช่วยเหลือครัวเรือนที่ด้อยกว่าและหากครัวเรือนที่ด้อยกว่ามีความเข้มแข็งก็ให้กลับไปเกื้อกูลครัวเรือนที่เข้มแข็งกว่าให้ยั่งยืนต่อไป ทบทวนสถานะกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นปัจจุบันและประชาสัมพันธ์ให้มีการลงทะเบียนผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP เพิ่มเติม ส่งเสริมการทำงานของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดบุรีรัมย์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเข้ามาเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้ ทั้งนี้ ใช้ทุนชุมชนเป็นตัวกระตุ้นและขับเคลื่อนโดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีการออมเงิน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาอาชีพได้ ให้กองทุนแม่ของแผ่นดินใช้กระบวนงานของกองทุนแม่ของแผ่นดินในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนต่อไป สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจน โดย ศจพ. ให้ใช้แนวทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส แบ่งครัวเรือนตกเกณฑ์ออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกให้เน้นครัวเรือนตกเกณฑ์ที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านยั่งยืน จำนวน 260 ครัวเรือน และครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. อีก 700 ครัวเรือน ในระยะต่อไปให้ช่วยเหลือครัวเรือนตกเกณฑ์ไม่น้อยกว่าปีละ 700 ครัวเรือน จนครบทุกครัวเรือน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้ายว่า "คน พช. ต้องมีความพอเพียง มีวินัย มีความสุจริต มีจิตอาสา มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit