ATP30 ยกระดับเทคโนโลยี ลดคาร์บอนเต็มสูบ ลุ้นคว้าใบรับรอง TGO ต้นปี 67

01 Nov 2023

ATP30 ยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ เดินหน้าลดคาร์บอน ตั้งเป้าคว้าใบรับรอง TGO ต้นปีหน้า เล็งขยายพอร์ตรถไฟฟ้าเพิ่ม พร้อมลดสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล เข้าร่วมเครือข่ายอมตะคาร์บอนนิวทรัล สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ATP30 ยกระดับเทคโนโลยี ลดคาร์บอนเต็มสูบ ลุ้นคว้าใบรับรอง TGO ต้นปี 67

นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการรถรับส่งพนักงานจากแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการโดยเฉพาะรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ พร้อมวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เตรียมความพร้อมขอรับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ต้นปี 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการยืนเอกสารตรวจสอบ

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้พัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) หุ่นยนต์ที่จะช่วยควบคุมติดตามการเดินรถ จัดการเส้นทางการเดินรถให้เกิดความคุ้มค่า ตรวจเช็คและซ่อมบำรุงรักษาสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐาน เพื่อควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้า ด้วยการให้บริการที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เตรียมขยายสัดส่วนของรถไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ซึ่งจากที่บริษัทให้บริการรถไฟฟ้าจำนวน 5 คัน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 65% เมื่อเปรียบเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาป

อีกทั้ง บริษัทมีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟ แผงโซล่าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเดินรถไฟฟ้าได้ประมาณ 30% และคาดว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ให้สอดรับกับปริมาณรถไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าจำนวน 6 คัน อยู่ระหว่างสั่งซื้อเพิ่มอีก 5-6 คัน และตั้งเป้าเพิ่มรถไฟฟ้า 20 คันในปีหน้า

โดยการขยายฐานลูกค้าดังกล่าว มีปัจจัยสนับสนุนจากที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออก ตระหนักถึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

ขณะที่ รถโดยสารที่ยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนหลัก บริษัททยอยปรับสัดส่วนลดการใช้น้ำมันดีเซล/เบนซิน โดยทำบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ใช้บริการบัตรเติมน้ำมัน (OR Fleet Card) ในโครงการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ทดแทนน้ำมันดีเซล/เบนซินชนิดพื้นฐาน และจะแบ่งผลประโยชน์คาร์บอนเครดิต 50% หลังจากได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)

นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าร่วมเป็น สมาชิกเครือข่ายอมตะคาร์บอนนิวทรัล (Amata Carbon Neutral Network) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

HTML::image(