กระทรวงสาธารณสุข โดย คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสาขาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) และ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) จัดการประชุมเสวนาในหัวข้อ "การบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่า สำหรับโรคปอดอุดกั้นและโรคหืด" เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขไทย โดยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการคลินิกคุณภาพ ให้ประชาชนได้เข้าถึงการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในปี2566 ที่ผ่านมาว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้องรังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 20,000 ราย เมื่อเทียบกับข้อมูลระหว่างปี 2563 - 2565 ซึ่งมีประมาณ 18,000 ราย1 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่มีส่วนซ้ำเติม ทำให้อัตราการป่วย อัตราการกำเริบเฉียบพลัน การนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินในช่วงต้นปี 2567 นี้ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงน่ากังวลอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน เผาป่า ฯลฯ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) ในการขับเคลื่อนการบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่าจากทุกภาคส่วนเชิงรุก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการคลินิกคุณภาพสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ลดอัตราอาการกำเริบเฉียบพลันรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการคลินิกให้มีมาตรฐาน ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยให้เข้มแข็ง
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นอกจาก สปสช. มุ่งเน้นการขยายเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้สะดวก และขยายสิทธิประโยชน์ในการรักษาแล้ว ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการต่อเนื่อง ผ่านการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐาน สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืดได้ ซึ่งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและลดความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจต่อไป
นายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กล่าวว่า คณะกรรมการ Service Plan กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้บริการคลินิกคุณภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-Base Healthcare) โดยมีจุดเด่นคือการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีมาตรฐานระดับสากล สามารถดำเนินการได้ง่าย แม้เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ และแม้ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางก็สามารถให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักกายภาพบำบัด เพื่อลดโอกาสอาการกำเริบรุนแรง ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงคลินิกคุณภาพอย่างทั่วถึงและได้รับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของไทยในระยะยาว
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรา บุญสวัสดิ์ ในฐานะประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic หรือ EACC) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ถึงปัจจุบันมีเครือข่าย EACC กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นความสำเร็จที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการคลินิกคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างง่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการของคลินิกคุณภาพกว่า 350,000 คน โดยได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานและใช้ยาได้ถูกวิธี ทั้งนี้ ผู้ป่วยกว่า 2 ใน 3 สามารถควบคุมโรคได้ และเกือบ 1 ใน 3 สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป
นางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK กล่าวว่า GSK ในฐานะบริษัท Biophama มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด "Ahead Together" นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนความสามารถของบุคลากร ทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพให้ก้าวล้ำนำโรคต่าง ๆ และให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง GSK ได้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการรักษาที่ตอบโจทย์ประชาชน เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการรักษาผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ
GSK ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการประชุมเสวนาครั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้เกิดการดูแลสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ ด้วยแนวทาง Value-based healthcare ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการคลินิกคุณภาพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงบริการคลินิกคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ลดอัตราการกำเริบรุนแรง ส่งเสริมการมีสุขภาพดี อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของทางกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้กำหนดพันธกิจร่วมกันในแผนพัฒนาประจำปีงบประมาณ 2567 ดังนี้ 1. จัดให้มี COPD & Asthma Clinic ครอบคลุมโรงพยาบาลทุกระดับตามศักยภาพของแต่ละแห่ง 2. ให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบการบริการ COPD & Asthma Clinic ตามแนวทางของ Service Delivery 3. มีการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงาน โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั้งในระดับประเทศเขตสุขภาพ และจังหวัดอย่างต่อเนื่อง และ 4.มีการนำข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ในการประเมิน ติดตาม และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit