นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรืออุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.มีแนวทางป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรืออุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปยังบริเวณเกิดเหตุและตรวจสอบว่า มีผลกระทบข้างเคียง หรือมีสารเคมีและวัตถุอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยตรวจสอบบริเวณถนนและท่อระบายน้ำ พร้อมตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในพื้นที่เกิดเหตุและบ้านเรือนประชาชนด้านท้ายลม เพื่อแก้ไขให้บริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณข้างเคียงมีความปลอดภัย
สำหรับการจัดการกับสารเคมีหลังเกิดเหตุ ให้เจ้าของสารเคมีจัดเก็บสารเคมีในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและปิดฉลากให้เรียบร้อย พร้อมเก็บขนสารเคมีไปจัดเก็บที่โรงงานเจ้าของสารเคมี เพื่อส่งไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง หากไม่พบเจ้าของสารเคมี สำนักงานเขตมีหน้าที่จัดรถสำหรับขนย้ายกากของเสียไปจัดเก็บชั่วคราวที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เมื่อหาผู้รับผิดชอบได้แล้วให้เจ้าของสารเคมีนำไปบำบัดและกำจัดต่อไป ส่วนกรณีลักลอบทิ้งสารเคมี กทม.ไม่สามารถหาเจ้าของสารเคมีมารับผิดชอบได้ จะจ้างบริษัทที่ให้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องต่อไป รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำด้านสุขภาพโดยเร่งด่วน ติดตามอาการและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงสอบถามประชาชนที่พักอาศัยบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียงว่า ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีรั่วไหลหรือไม่ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชนต่อไป และสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลผู้รับสัมผัสสารเคมีที่มีอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม กทม.มีแนวทางเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบโรงงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผลิต เก็บ ครอบครอง หรือใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยบูรณาการทีมตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจเฝ้าระวังสถานประกอบการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งสำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบสถานประกอบการสารเคมีในพื้นที่รับผิดชอบทุกปี เพื่อความปลอดภัยและสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบกิจการสารเคมีจัดเก็บสารเคมีให้มีความปลอดภัยและอยู่ในมาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้ข้อมูลรายละเอียดสารเคมีที่ครอบครอง เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับดับเพลิงที่เพียงพอ วัสดุดูดซับสารเคมี จัดทำแผนฉุกเฉินสารเคมี แผนอัคคีภัย และต้องจัดให้มีการซักซ้อมเป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกันได้นำเข้าข้อมูลสถานประกอบการสารเคมีลงบนแผนที่เสี่ยงภัยกรุงเทพมหานคร (BKK Risk Map) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้เฝ้าระวังภัยจากสารเคมี และใช้เป็นข้อมูลตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี
นอกจากนั้น กทม.มีแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งมีหลายหน่วยงานในสังกัด กทม.เข้าร่วมปฏิบัติการตามแผนดังกล่าว ส่วนกรณีการขนย้ายสารเคมีและวัตถุอันตราย ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ขี่รถบรรทุกวัตถุอันตรายต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ประเภทที่ 4 และต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่อธิบดีกรมประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีความรู้การป้องกันการเกิดประกายไฟของสารเคมี และรถที่บรรทุกวัตถุอันตรายต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด ติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ของวัตถุอันตรายให้ชัดเจน ภายในรถมีเอกสารการขนส่งตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit