ทรู ดิจิทัล อคาเดมี จัดเสวนา "Shaping Your HR Strategy 2024" เผยเทรนด์การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแต่สรรหาบุคลากร สร้างแรงจูงใจให้ทำงานอย่างมีความสุข แต่ต้องไม่หยุดพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบสนองการทำงานได้อย่างเหมาะสม และทำให้คนที่มีความหลากหลายทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้ เหล่าผู้บริหาร HR จากองค์กรชั้นนำให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังมุมมองจากเหล่ากูรูทั้ง คุณอาทิ สุบรามาเนียน Partner บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี, คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากร และ ดร. ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี
ภารกิจ"คน" ที่ต้องเสริมแกร่งทักษะดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนองค์กร
ดร. ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อคาเดมี เผยมุมมองเรื่องของเทคโนโลยียังเป็นทักษะที่สำคัญ โดยเทคโนโลยีในบริบทของ AI หมายถึงการทำอย่างไรให้สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล โดยที่คนไม่ต้องเข้าใจการเขียนโค้ดเองให้ยุ่งยาก แต่ต้องมีความเข้าใจที่จะใช้ AI ให้ได้อย่างเต็มที่ อีกประเด็นคือ AI Big Data ในบริบทของการนำ Big Data มาตอบโจทย์การตัดสินใจทางธุรกิจให้ดีขึ้น ท้ายที่สุดเรื่องของความสร้างสรรค์ ที่ปัจจุบัน AI สามารถเข้ามาช่วยออกแบบได้แล้ว แต่มนุษย์ยังต้องพัฒนาทักษะในการเขียนคำสั่งให้ AI เข้าใจว่าเราต้องการสร้างสรรค์ผลงานแบบใด และสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับ HR คือ การตรวจสอบคำตอบของ AI นั้น ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีทักษะด้านดิจิทัล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ทุกองค์กรต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทรู ดิจิทัล อคาเดมี จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการทรัพยากรบุคคล โดยการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรและองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้สามารถรับมือดิจิทัล ดิสรัปชันต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
องค์กรยุคใหม่มีความซับซ้อนต่างจากเดิม ต้องมีวิธีการรับมือแบบใหม่
คุณอาทิ สุบรามาเนียน Partner บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ฉายภาพความซับซ้อนขององค์กรว่า ที่ผ่านมาได้เห็นการรวมธุรกิจเกิดขึ้นหลายแห่ง การจัดโครงสร้างองค์กรและวิธีพัฒนาทักษะบุคลากรในปัจจุบัน กำลังขัดขวางการตอบสนองอย่างรวดเร็วขององค์กร จากการสำรวจผู้นำองค์กรกว่า 25,000 คน จากองค์กรที่มีพนักงานกว่า 1,000 คน ระหว่างปลายปี 2022 ถึง 2023 ในรายงานเรื่อง The State of Organizations 2023 ของ McKinsey สรุปผลได้ 10 ข้อ ดังนี้ 1. การเพิ่มความเร็วและเสริมความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเทรนด์แรกที่เข้ามา บางครั้งองค์กรยังล่าช้าเพราะต้องรอการอนุมัติ ทำให้คำว่า Agile ถูกนำมาใช้ ทั้งวิธีการทำงานร่วมกันหรือเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับพนักงานดูแลเพื่อสร้างความคล่องตัว เป็นต้น 2. การทำงานแบบไฮบริด จากการสำรวจ 4 ใน 5 คนจาก 80% ระบุว่า การทำงานไฮบริดสำคัญมาก และเป็นตัวเลือกอันดับที่ 2 ในการเลือกที่ทำงาน 3. การให้ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เป็นกระแสที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มี ChatGPT ซึ่ง AI ถูกนำมาใช้ในการคัดกรองใบสมัครเบื้องต้น ทำให้ช่วยลดใบสมัครที่ไม่เกี่ยวข้องได้กว่า 70% 4. การมีกฎใหม่ของการดึงดูด การรักษา และการละทิ้ง องค์กรต้องคิดต่างจากเดิม มีตัวอย่างจากธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยังคงรักษาความสามารถมนุษย์ไว้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนทุกสิ่ง ทั้งกฎระเบียบ การกำหนดแรงจูงใจ ทำให้การทำงานมีความสนุกสนาน นอกจากนี้วัฒนธรรมดังกล่าวยังถูกส่งต่อไปยังลูกค้ากลายเป็นคุณค่าที่ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างมีเป้าหมาย 5. ช่องว่างด้านความสามารถ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมมากขึ้น จะเห็นได้ว่าสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก กำลังเร่งพัฒนาทักษะด้านนี้ 6. การวางคนที่เหมาะสมกับงาน จะช่วยเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรบุคคลได้มากกว่า 80% คนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ทั่วทั้งองค์กร การวางคนให้เหมาะสม จะช่วยขับเคลื่อนคุณค่าให้กับตัวพนักงานและองค์กรได้เป็นอย่างดี 7. ภาวะผู้นำที่ตระหนักรู้ในหน้าที่ตนเองและรู้วิธีสร้างแรงบันดาลใจ ยิ่งผู้นำสามารถตระหนักรู้ข้อผิดพลาดของตนเองและแก้ไข จะช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้นำมีศักยภาพที่สูงขึ้น 8. ความก้าวหน้าในด้านความหลากหลาย การไม่แบ่งแยก ความเสมอภาคในทุกบริบท จะช่วยทำให้องค์กรและการทำงานไม่เกิดความแตกแยกอย่างไม่เป็นธรรม 9. สุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน การดูแลและใส่ใจเรื่องสุขภาวะทำให้การทำงานราบรื่นมีประสิทธิผลที่ดี และ 10. การวางแผนกำลังคน แน่นอนว่าจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพด้วยจำนวนคนที่น้อยลง ซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถของทีมทรัพยากรบุคคลอีกด้วย
ESG ช่วยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
อีกความท้าทายขององค์กรคือเรื่อง ESG คุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ผู้ เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอิสระ ด้านการพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากร กล่าวว่า ต้องมอง ESG จากตัวบริบทของธุรกิจว่าจะนำ ESG มาเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้อย่างไร เพื่อให้สามารถขยายตัวและคงอยู่ต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน E - Evolution คือ มิติของการขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงของการเพิ่ม Productivity ทำอย่างไรจึงจะประหยัดพลังงาน หรือการหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง S - Social Ability คือ โอกาสในการขายที่ขยายกว้างขึ้น และ G - God คือ โอกาสของการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นโอกาสของการเติบโตไปยังต่างประเทศแบบยั่งยืน หากองค์กรมี ESG Profile ที่ดี ก็จะสร้างบริษัทให้มีชื่อเสียงระดับมาตรฐานสากลได้ ดังนั้นการนำ ESG เข้ามาอยู่ในบริบทการบริหารองค์กรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนจาก Physical ไปสู่โลก Virtual บริบทที่ต้องมองต่อไปคือ 1. ทำอย่างไรจึงจะนำ ESG เข้ามาควบคุมการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. ทำอย่างไรจึงจะสร้างความภักดีให้กับแบรนด์ได้ ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่หนึ่ง 3. มองโลกธุรกิจให้เป็นระบบนิเวศที่ครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนทั้งอุตสาหกรรม ด้านการนำ AI มาใช้ในบริบทของคน ต้องกลับมาดูว่าประโยชน์จริงๆ ในการดูแลองค์กรคืออะไร ทั้งสิ่งที่ต้องตัดออก สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นอัตโนมัติ สิ่งที่ยังต้องใช้มนุษย์ทำงาน การอัปสกิล-รีสกิล เพื่อให้องค์กรสามารถมุ่งไปข้างหน้าได้ การรับพนักงานใหม่อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดูแลเด็กรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับคนหลากหลายรุ่นอายุที่แตกต่างกัน จะต้องมีบริบทของ Diversity Interchange เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ดังนั้นประโยชน์จาก AI จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น การสกรีนดูว่าใบสมัครถูกก็อบปี้มาจากที่ใด การช่วยรวบรวมเนื้อหาที่ต้องการ การช่วยลดเวลาในการวิเคราะห์ และการคาดการณ์ โดยหน้าที่ของมนุษย์คือ การพัฒนาทักษะให้สามารถควบคุมและสั่งการให้ AI ทำงานได้ตามต้องการ และสุดท้ายคือการพัฒนา AI ให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้คนสามารถทำงานได้เร็วขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit