วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงาน ร่วมคณะของ นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุดรธานี ร่วมต้อนรับ ณ บ้านพักของแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
นายสมาสภ์ กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และท่านไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ซึ่งท่านได้กำชับให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแรงงานไทยที่เสียชีวิตเพื่อให้ทายาทผู้เสียชีวิตได้รับสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานอย่างครบถ้วนโดยเร็ว ในวันนี้จึงได้มอบหมายให้ผมและคณะลงพื้นที่มาพร้อมกับคณะของท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลถึงบ้าน พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยที่เสียชีวิตจำนวน 6 ราย เพื่อให้ญาติทราบ ได้แก่ รายแรกมาเยี่ยมครอบครัวของ นายอนุชา โสภากุล อยู่ที่ ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รายที่ 2 เยี่ยมครอบครัวของ นายจักรพงษ์ จันทรเสนา อยู่ที่ ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี รายที่ 3 เยี่ยมครอบครัวของ นายพิรุฬห์ ทานนพิมพ์ อยู่ที่ ต.ท่าลี่ อ.กุมภวาปี รายที่ 4 เยี่ยมครอบครับของ นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ อยู่ที่ ต.หนองไผ่ อ.หนองหาน รายที่ 5 เยี่ยมครอบครัวของ นายไกรสร อรัญถิตย์ อยู่ที่ ต.หนองไผ่ อ.หนองหาน และรายที่ 6 เยี่ยมครอบครัวของ นายเกียรติศักดิ์ พาที ที่บ้าน อยู่ที่ ต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่ง จ.อุดรธานี ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในอิสราเอลเป็นจำนวนมากในลำดับต้นของประเทศ และจากการได้พูดคุยกับญาติพี่น้องครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิต พบว่า ญาติพี่น้องของแรงงานแต่ละครอบครัวต่างมีขวัญกำลังใจดีขึ้นโดยลำดับ
นายสมาสภ์ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดอุดรธานี มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในอิสราเอล 4,042 คน ขณะนี้เดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว 1,387 ราย ยังไม่เดินทางกลับ 2,655 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 5 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย กลับภูมิลำเนาแล้ว 3 ราย ยังคงรักษาตัวที่อิสราเอล 1 ราย เสียชีวิต 11 ราย มีผู้มายื่นขอรับบริการผ่านศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล จ.อุดรธานี 941 ราย แยกเป็นติดตามเงินค่าจ้างค้างจ่าย และเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (ปิซูอิม) 328 ราย ติดตามค่าตั๋วเครื่องบิน 602 ราย และ ติดตามเงินช่วยเหลือกรณีแรงงานเสียชีวิต 11 ราย
"กระทรวงแรงงานขอให้ครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิตจากอิสราเอลมั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการประสานทุกฝ่าย เพื่อติดตามสิทธิประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานให้ได้รับสิทธิ์อย่างครบถ้วนทุกราย ซึ่งในส่วนของสิทธิประโยชน์จากอิสราเอล รวมทั้งเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง (เงินปิซูอิม) นั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน ได้ให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เป็นผู้ประสานงานกับนายจ้างเพื่อดำเนินการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังค้างจ่ายให้พี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุดต่อไป" นายสมาสภ์ กล่าวท้ายสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit