รองเลขาธิการ ศอ.บต. หารือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พร้อมฟังข้อเสนอเพื่อหาแนวทางร่วมในการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หวังสร้างรายได้ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน ไปพร้อมกับการสร้างอาชีพทำกรงนกขาย ที่รังสรรค์ให้ความสวยงามแปลกตาตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
จากการที่รัฐบาลได้พิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด "นกกรงหัวจุก" ออกจากบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย จึงเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชน และศึกษาสถานการณ์จำนวนนกกรงหัวจุกเพื่อพิจารณาการถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งกรณีคล้าย ๆ กัน เช่น นกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน
จึงทำให้วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) เวลา 10.30 น. นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อประชุมหารือและรับฟังความเห็นแนวทางการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพราะในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงนกชนิดนี้เป็นจำนวนมาก และไม่ได้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว จึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึก ตามที่ประชาชนในพื้นที่อยากให้ปลดออกจากบัญชีสัตว์สงวน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยง และการซื้อขายที่ทำกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
ในการนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยากให้มีการปลดล็อค นกกรงหัวจุก ให้ถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลี้ยงนกกรงหัวจุกให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังคงมีข้อซักถามจากคณะกรรมการฯ ว่า เมื่อมีการปลดล็อคแล้ว จะแน่ใจได้อย่างไรว่า นกกรงหัวจุกที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติจะไม่สูญหายไป จึงอยากให้ทุกฝ่ายเร่งหาคำตอบ เพื่อไปชี้แจงไปยังคณะกรรมการฯ และสำหรับข้อมูลจำนวนนกปรอดหัวโขน เมื่อปี 2546 ทางรัฐบาลได้เปิดให้แจ้งการครอบครองนกชนิดนี้ พบว่ามีผู้มาแจ้งครอบครองอยู่จำนวนกว่า 90,000 ตัว ปัจจุบันนี้ นกกรงหัวจุกที่ประชาชนเลี้ยงไว้นั้นมีการขยายพันธุ์เองมีจำนวนมาก และเมื่อรวมจำนวนที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้วมีจำนวนหลายแสนตัว และยังคงมีผู้เลี้ยงที่ครอบครองนกกรงหัวจุกที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับอนุญาตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ยังคงมีประชาชนหลายคนนำนกกรงหัวจุกมาประชันแข่งขันเสียงของนกกรงหัวจุก จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายชั่วอายุคน จนเกิดเป็นการค้าขาย กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ล่าสุดนกชนิดนี้กำลังเผชิญความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอขอให้ปลด 'นกกรงหัวจุก' หรือ 'นกปรอดหัวโขน' ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยยกกรณีเทียบเคียงเดียวกับนกเขาชวาเสียง ที่เมื่อปลดล็อคจากสัตว์คุ้มครองแล้ว ก็ทำให้มีการขยายตัวของผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ทำให้สูญพันธุ์แต่อย่างใด ในกรณีนกกรงหัวจุกเช่นเดียวกัน ที่ปัจจุบันนั้นรอยละ 90 ของเลี้ยงหรือขาย ล้วนเป็นนกที่มาจากฟาร์มเพาะทั้งสิ้น มิได้เป็นการสุ่มจับนกป่าอย่างในอดีตเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว เพราะจะได้สายพันธุ์ที่ดีกว่า เสียงดีกว่า รูปร่างดีกว่า เนื่องจากฟาร์มเพาะพันธุ์ปัจจุบัน มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการหาพ่อ-แม่พันธุ์ดี มาผสมให้ได้พันธุ์ที่ดี และท้ายที่สุดก็จะลดจำนวนของการจับนกป่าไปในที่สุด
สำหรับการเลี้ยง นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก "ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น กรง อาหารสัตว์ ถ้วยเซรามิกใส่น้ำ นอกจากนี้ การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังเป็นทั้งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือส่งเข้าประกวด เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย และเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มคน ประกอบกับเยาวชนบางกลุ่มในพื้นที่ยังมีมุมมองว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ห่างไกลยาเสพติด เพราะคนเลี้ยงต้องใส่ใจดูแล มีเป้าหมายในการฝึกนกร้องเพื่อไปแข่ง ทำให้มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งอบายมุข"
จากนั้นเวลา 14.00 น. รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่ไปยังบ้านเลขที่ 140/1 หมู่ที่ 7 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมชมการทำกรงนกของนายอิมรอน บินสามะแอ ที่ยึดอาชีพทำกรงนกขาย สร้างรายได้เป็นอาชีพหลักมานานนับสิบปี โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติในการรังสรรค์กรงให้มีความสวยงามแปลกตาตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและความต้องการของลูกค้า แต่ละเดือนมีรายได้เข้ามาหลายหมื่นบาท มีลูกค้าสั่งทำกรงนกไม่ขาดสายจนผลิตไม่ทัน
ในการนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวชื่นชมนายอิมรอน บินสามะแอ ที่มีความมุ่นมั่นในอาชีพสุจริต จึงเป็นงานฝีมือที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนมากมาย เพราะกรงนกหัวจุกหลากหลายรูปแบบที่เห็นในการแข่งขันและแขวนตามบ้านของนักนิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกหลายแห่ง เกิดจากการรังสรรค์งานฝีมือ และทาง ศอ.บต. สนใจที่จะนำเยาวชนในพื้นที่ ที่มีความสนใจอยากสร้างอาชีพแก่ตนเองและครอบครัว เข้ามาฝึกงานทำกรงนก เพราะนายอิมรอน บินสามะแอ ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านฝีมือการสร้างอาชีพอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุที่กรงนกแต่ละใบส่วนประกอบมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่า เสากรง คิ้ว เอว อุปกรณ์หัวกรง ซี่กรง กว่าจะได้สักใบต้องใช้เวลานาน ถือเป็นงานฝีมือที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน
ด้าน นายอิมรอน บินสามะแอ ช่างทำกรงนกฯ กล่าวขอบคุณ ศอ.บต. ที่เห็นความสำคัญของอาชีพการทำกรงนก เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ตนเองและครอบครัวก็ลำบากมากเหมือนกัน จากวันแรกที่เริ่มผลิตกรงนกแบบทั่วไป ที่ยังไม่มีลวดลายอะไรมากมาย เพื่อนำไปขายในตลาดนัด และเริ่มมีลูกค้าสนใจ จึงมีแนวคิดที่จะเริ่มทำกรงนกที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใส่ลวดลายเข้าไปให้เกิดเป็นมูลค่ามากขึ้น จึงเป็นที่สนใจแก่ผู้คนมากมาย และสำหรับที่ ศอ.บต. จะนำเยาวชนในพื้นที่ เข้ามาฝึกทำกรงนกนั้น ตนเองรู้สึกดีใจมาก และขอต้อนรับเยาวชนทุกคนที่ให้ความสนใจ พร้อมสัญญาว่าจะนำความรู้ที่มีอยู่ ไปเผยแพร่แก่เยาวชนให้มีความรู้ติดตัว นำอาชีพกรงนกไปประกอบอาชีพหลักให้เกิดรายได้แก่ตนเองและครอบครัวต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit