นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนตั้งข้อสังเกตสถานีดับเพลิง กทม.กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองชั้นใน ส่วนรอบนอกค่อนข้างมีน้อยว่า ปัจจุบัน กทม.มีสถานีดับเพลิงและกู้ภัย 48 แห่ง แบ่งเป็นสถานีดับเพลิงที่รับโอนมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามมติคณะรัฐมนตรีการถ่ายโอนภารกิจ จำนวน 35 สถานี เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นมาก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน พื้นที่เมือง และพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งพิจารณาจัดสร้างตามลักษณะการเจริญในอดีต และทั้งหมดจัดสร้างโดย สตช. ส่วนสถานีดับเพลิงอีก 13 สถานี จัดตั้งขึ้นในยุคที่ภารกิจด้านการดับเพลิงและกู้ภัยมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. แบ่งเป็นสถานีดับเพลิงหลัก 4 สถานี และสถานีดับเพลิงย่อย 9 สถานี
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายให้จัดสร้างสถานีดับเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และดำเนินการตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล โดยพิจารณาขยายสถานีดับเพลิงด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ (1) มาตรฐานการเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่นักดับเพลิงและกู้ภัยต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที (2) ความชุกและสถิติการเกิดเหตุอัคคีภัยของแต่ละพื้นที่ และ (3) ความเสี่ยงและความล่อแหลมในการเกิดเหตุอัคคีภัยของพื้นที่ ซึ่งจากองค์ประกอบและปัจจัยจากข้อมูลการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่จะต้องมีสถานีดับเพลิงเพิ่มเติมเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่เขตบางบอน จอมทอง บางขุนเทียน ภาษีเจริญ จตุจักร ลาดพร้าว บึงกุ่ม บางเขน บางกะปิ คันนายาว ลาดกระบัง สวนหลวง บางนา และเขตดินแดง ซึ่งผู้บริหาร กทม.ได้ตระหนักและมีนโยบายให้ สปภ.จัดหาสถานที่ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ กทม.มีแนวนโยบายขยายสถานีดับเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสถานีดับเพลิงครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การดำเนินการต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน หลักการ และมาตรฐาน เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit