เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เข้าร่วมบรรยายในงาน The Future Fintech 2024 และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) และสมาคมฟินเทคประเทศไทย (TFA) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการระงับข้อพิพาททางเลือก ในหัวข้อ "ทิศทางอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลและแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2024" ณ สยามพารากอน ชั้น 4 โซน SCBX Next Tech กรุงเทพฯ
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมการประชุมในเวทีโลกหลายเวที โดยเฉพาะการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ซึ่งการประชุมครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นี้ จะมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เตรียมเข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยในหลายเวทีโลกในปีที่ผ่านมาต่างเห็นตรงกันว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป นักลงทุนเตรียมกลับเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้นักลงทุนจะกระจายเม็ดเงินไปในหลายพื้นที่มากขึ้นไม่เหมือนเช่นเคย ทำให้ประเทศในแถบอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศเวียดนามจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาเยอะมากที่สุดกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงหลายกองทุนที่จะปล่อยเม็ดเงินเข้ามาในอาเซียนไม่แพ้ประเทศจีนเลย
นายจิรายุส กล่าวต่อว่า โดยแนวคิดที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญคือ "แนวคิด ESG" ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social หรือมองในภาพ Stakeholders) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งแนวคิด ESG นี้จะกลายเป็นเหมือนหลักปรัชญาใหม่ในการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนที่นักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการลงทุน ทำให้ธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจฟินเทคที่มีศักยภาพในการเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก จำเป็นต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญอีกด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค อีกทั้งเทรนด์สำคัญอย่างเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตอนนี้สถาบันการเงินไทยต่างก็ให้ความสนใจและเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หรือการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่มีการตอบรับเรื่อง Investment Token แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในปีหน้านี้เช่นกัน
"ความร่วมมือระหว่างสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) และสมาคมฟินเทคประเทศไทย (TFA) ในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นได้ว่าหลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจฟินเทคและสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในอนาคต การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการจากความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อวงการกฎหมาย โดยเฉพาะทางด้านอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สำคัญ และทางด้านธุรกิจฟินเทคต่อไป โดยงานนี้ยังได้รับเกียรติจากพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน และมีนางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ และนายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เป็นผู้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ ซึ่งตนเชื่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจฟินเทคไทยมีความพร้อมสู่การแข่งขันรองรับเทรนด์ที่กำลังจะมาถึงได้" นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ "แนวโน้มข้อพิพาทและการระงับข้อพิพาททางเลือกด้านธุรกิจฟินเทคในปี 2024" ที่แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทด้านธุรกิจฟินเทคและสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงข้อพิพาทด้านธุรกิจฟินเทคระหว่างนักลงทุนกับภาครัฐ โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายและสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ จาก Clyde & Co, นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ จาก ABER Group, นายพิสุทธิ์ อรรถกมล จาก Baker & McKenzie, นายทศพร สัมพิพัฒนเดชา จาก Watson, Farley & Williams และดำเนินรายการโดยนายพลากร ศิวเวชช จาก Weerawong C&P
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit