การประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม ครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่กรุงอูลานบาตอร์ ประกาศสร้างความร่วมมือครั้งใหม่-ปฏิรูปการลงทุน

12 Jul 2023

การประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม (Mongolia Economic Forum หรือ MEF) ครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่กรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ในโอกาสนี้ รัฐบาลมองโกเลียได้ประกาศจัดตั้งสองหน่วยงานใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ รวมทั้งประกาศสร้างความร่วมมือครั้งใหม่กับบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของนายอีลอน มัสก์ และบริษัทวอตทรีเวิร์ดส์ (What3Words) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการระบุตำแหน่งเชิงภูมิศาสตร์ โดยความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากที่มองโกเลียได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566

แขกผู้มีเกียรติราว 2,200 คนจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้แทนจากธุรกิจระดับโลก ภาคส่วนที่สาม และองค์กรพหุภาคี ได้มารวมตัวกันในการประชุมซึ่งจัดขึ้นสองวัน (9-10 กรกฎาคม) และหารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับรัฐบาลมองโกเลียเพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นสองเท่าภายในปี 2573 และผลักดันให้มองโกเลียเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาคภายในกลางศตวรรษนี้

วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2593 (Vision 2050) และนโยบายฟื้นฟูใหม่ (New Recovery Policy) ที่ประกาศในปี 2565 ได้กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมองโกเลีย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในภาพรวม ทิศทางดังกล่าวช่วยสร้างความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน และเป็นรากฐานของความก้าวหน้าล่าสุดที่ประกาศในการประชุมครั้งนี้

ในช่วงเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม รัฐบาลมองโกเลียได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือภาคเอกชน (Private Partnership Centre) และสำนักงานการค้าและการลงทุน (Investment and Trade Agency) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ด้วยการสร้าง "สะพานเชื่อมธุรกิจในมองโกเลีย" รวมถึงช่วยคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายของนักลงทุน ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการนำเข้าสินค้า และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า

นายคูเรลบาตาร์ ชีเมด (Khurelbaatar Chimed) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้กล่าวถึงโอกาสของการลงทุนในมองโกเลีย และความตั้งใจของรัฐบาลที่จะแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการลงทุน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ด้านการลงทุน

ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมองโกเลียให้ความสำคัญกับการขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโต โดยประกาศนโยบายฟื้นฟูใหม่มูลค่า 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่พิมพ์เขียวของวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2593 ก็ยังคงให้ผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจมองโกเลียเติบโตมากเกินคาดที่ระดับ 4.8% ในปี 2565 ซึ่ง 1.1% ในจำนวนนี้เป็นผลมาจากนโยบายฟื้นฟูใหม่ และหลังการเติบโตถึง 7.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตในปี 2566 จากเดิม 5% เป็น 6% ส่วนในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจมองโกเลียจะโต 6.5%

การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ เกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับนายแพทย์เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยการทำงานร่วมกันได้ทำให้มองโกเลียประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ โดย 90% ของกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส ซึ่งช่วยให้มองโกเลียสามารถยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าประเทศอื่นถึงห้าเท่า ทั้งนี้ มองโกเลียได้แสดงความยินดีที่นายแพทย์เกเบรเยซุสสามารถเข้าร่วมการประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม ในปีนี้

หนึ่งในส่วนสำคัญของ "วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2593" ของมองโกลเลีย คือการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเป็นอยู่ที่ดี โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 รัฐบาลได้รณรงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งเป็นหลักชัยสำคัญในการจัดการสุขภาพของประชาชนในเชิงรุก และจนถึงตอนนี้มีประชาชน 1 ล้านคนได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ มีการประกาศสองโครงการลงทุนใหม่ที่สำคัญในมองโกเลีย ซึ่งตอกย้ำถึงประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายส่งเสริมการเติบโตของรัฐบาล ดังนี้

  • รัฐบาลมองโกเลียได้สร้างความร่วมมือกับสเปซเอ็กซ์ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคนในมองโกเลียสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสตาร์ลิงก์ (Starlink) นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนในชนบท อีกทั้งยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของมองโกเลียด้วย
  • รัฐบาลมองโกเลียสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่กับบริษัทเทคโนโลยี วอตทรีเวิร์ดส์ เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการรู้จำอักขระด้วยแสง (Optical Character Recognition) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับบริการไปรษณีย์ รวมถึงนำไปใช้โปรโมตแหล่งมรดกและสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของมองโกเลีย

นายโอยุน-เออร์เดเน ลุฟซานนัมซไร (Oyun-Erdene Luvsannamsrai) นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย แสดงความคิดเห็นว่า

"ผมยินดีที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจากทั่วโลกเข้าสู่การประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม ครั้งที่ 10 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจของมองโกเลีย ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก"

"ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประกาศลงทุนเพิ่มเติมในมองโกเลียสองโครงการ และการเริ่มต้นผลิตที่เหมืองทองแดงใต้ดิน โอยู โทลโกย (Oyu Tolgoi) ร่วมกับบริษัท ริโอ ทินโต (Rio Tinto) เมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามองโกเลียดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

"การที่เราสามารถฟื้นตัวได้อย่างน่าประทับใจจากโรคระบาด โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายฟื้นฟูใหม่ของรัฐบาล ถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการจัดการกับอุปสรรคในระยะยาวเพื่อการเติบโตในระดับสูงอย่างยั่งยืน ผมยินดีกับโอกาสที่การประชุมครั้งนี้มอบให้ เพื่อหารือร่วมกันว่าความร่วมมือที่มากขึ้นจะช่วยให้เราก้าวหน้ามากขึ้นได้อย่างไรบ้างในอีกหลายปีข้างหน้า"

ในปีนี้ การประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยมีนายโอยุน-เออร์เดเน ลุฟซานนัมซไร นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย และนายโดมินิก บาร์ตัน (Dominic Barton) ประธานคณะกรรมการบริษัท ริโอ ทินโต กรุ๊ป เป็นประธานร่วมของการประชุม ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ "ยินดีต้อนรับสู่มองโกเลีย" (Welcome to Mongolia) โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลมองโกเลียในการต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ไม่ว่าจะเดินทางมาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวก็ตาม ในโอกาสนี้ นายบาร์ตันได้กล่าวสุนทรพจน์โดยเน้นย้ำว่า วิสัยทัศน์ ความทะเยอทะยาน ทรัพยากร และพรสวรรค์ของชาวมองโกเลีย จะช่วยให้บรรลุความสำเร็จในทุกสิ่ง พร้อมเสริมว่าสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อทศวรรษที่แล้วได้หวนคืนมาสู่มองโกเลียแล้ว

ไฮไลต์ของการประชุมมองโกเลีย อีโคโนมิก ฟอรัม ในปีนี้ ได้แก่

  • กิจกรรม "MEF Youth" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสำรวจความสามารถและศักยภาพของประชากรส่วนใหญ่ของมองโกเลียที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ว่าจะช่วยให้ประเทศได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร
  • หลังจากรัฐบาลประกาศให้ปี 2566 เป็น "ปีแห่งการต่อต้านการทุจริต" ก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเน้นไปที่การประชุมผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับการต่อยอดความก้าวหน้าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และสิ่งที่มองโกเลียสามารถเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดทั่วโลก หลังจากที่จำนวนคดีทุจริตที่ศาลตัดสินแล้วเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2562 เป็น 43% ในปี 2565
  • กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวได้จับมือกับองค์กรสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก เดอะ เนเจอร์ คอนเซอร์แวนซี (The Nature Conservancy) ประกาศจัดตั้งกองทุน Conservation Trust Fund (CTF) ในปลายเดือนนี้ เพื่อวางระบบที่ยั่งยืนมากขึ้นในการจัดหาเงินทุนให้แก่โครงการอนุรักษ์ต่าง ๆ ในมองโกเลีย ซึ่งจะช่วยให้มองโกเลียบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • มีการประชุมเต็มคณะ 4 รายการ และการประชุมย่อย 15 รายการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การผลิตอาหาร การเติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาเมือง และตลาดทุน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ของมองโกเลียพร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน รวมถึงในภาษาอังกฤษด้วย

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2150557/PM_MEF.jpg

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit