มกอช. หารือเชิงเทคนิคด้านโครงสร้างใบรับรองสุขอนามัยสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ (e-AH) กับกรมประมงและกรมศุลกากร มุ่งปรับปรุงโครงสร้างใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงของไทย ตั้งเป้าเชื่อมอาเซียนสำเร็จภายในสิ้นปี 2566 นี้ คาดช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และขยายโอกาสทางการตลาดในอาเซียน
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นประธานการประชุมหารือหารือทางเทคนิคด้านระบบใบรับรองสุขอนามัยสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ (e-AH) ร่วมกับกรมประมงและกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาความสอดคล้องของโครงสร้างข้อมูล e-AH ของอาเซียนกับเงื่อนไขและข้อกำหนดการออกใบรับรองสุขอนามัยสัตว์ของกรมประมง
ปัจจุบัน มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานหลักด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ของไทยในอาเซียน มีภารกิจสำคัญในการผลักดันการเชื่อมต่อและใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-SPS โดยหลังจากที่ไทยและอินโดนีเซียเป็นสองประเทศแรกในอาเซียนที่สามารถใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Phyto ระหว่างกันได้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ขณะนี้ใบรับรองสุขอนามัยสัตว์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-AH เป็นเอกสารฉบับต่อไปที่อาเซียนผลักดันให้มีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกภายในปี 2566 ก่อนที่จะผลักดันการใช้งานใบรับรองความปลอดภัยอาหารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-FS เป็นลำดับถัดไป
อาเซียนได้จัดทำโครงสร้างใบรับรอง e-AH สำหรับสัตว์และสัตว์น้ำมีชีวิต รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์และสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค โดยอ้างอิงตามโครงสร้างใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (WOAH) และได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน (AMAF) ตั้งแต่ปี 2560 แต่จำเป็นต้องมีการปรับแก้รายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องต่อการปฏิบัติงานจริง ตลอดจนเงื่อนไขและข้อกำหนดในการออกใบรับรองของแต่ละประเทศ ซึ่งอาเซียนจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือประเด็นดังกล่าวในเดือนกันยายน 2566 นี้ และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถเสนอขอปรับปรุงโครงสร้างและแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับระบบ e-AH ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง เพื่อให้การเชื่อมต่อระบบและแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือรายละเอียดเชิงเทคนิคเกี่ยวกับโครงสร้างข้อมูล e-AH ของอาเซียน เปรียบเทียบกับข้อกำหนดและเงื่อนไขในการออกใบรับรองของกรมประมงสำหรับสินค้าชนิดต่างๆ เช่น สัตว์น้ำสวยงาม สัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการเพาะพันธุ์ ซากสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค ตลอดจนสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และอาหารสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่งพบว่ามีหลายจุดที่โครงสร้างข้อมูลของอาเซียนและข้อกำหนดของกรมประมงไม่สอดคล้องกัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรเสนอการปรับปรุงโครงสร้างของอาเซียนให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงของไทย
ในส่วนของโครงสร้างเอกสาร e-AH สำหรับสินค้าปศุสัตว์ มกอช. มีกำหนดหารือกับกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 โดย มกอช. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประกอบการจัดทำท่าทีฝ่ายไทยในการหารือกับอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับสถานะปัจจุบันด้านการพัฒนาระบบ e-AH ของไทย ขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-AH สำหรับสินค้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถทดสอบการเชื่อมต่อกับ NSW ของกรมศุลกากรได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 และเชื่อมต่อกับอาเซียนได้ภายในสิ้นปี 2566 และกรมประมงอยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อพัฒนาระบบ e-AH สำหรับสัตว์น้ำมีชีวิตที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กรมประมงได้พัฒนาระบบใบรับรองความปลอดภัยอาหาร (e-FS) สำหรับสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตหรือแช่เย็นเพื่อการบริโภค และเชื่อมต่อกับ NSW เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอเชื่อมต่อกับประเทศคู่ค้าที่สนใจต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit