ธนาคารไทยเครดิตฯ ผนึกกำลังพันธมิตรเปิดตัว 2 โครงการเด่นเพื่อสังคมของมูลนิธิไทยเครดิตภายใต้แนวความคิด EMpower for Community มุ่งพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดตัว 2 โครงการเด่นเพื่อสังคมของมูลนิธิไทยเครดิต ภายใต้แนวความคิด EMpower for Community ได้แก่ โครงการพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และ โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชน OTOP พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding (MoU)) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม นำร่องพัฒนาชุมชนในตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อนตามแนวการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model ที่เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้ทรัพยากรน้อยลงเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชีวภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals)
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิไทยเครดิตกล่าวว่า "มูลนิธิไทยเครดิตก่อตั้งโดยธนาคารไทยเครดิตฯ เพื่อส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน สนับสนุนการพัฒนาชุมชน ศิลปะ วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มูลนิธิฯ จึงริเริ่ม 2 โครงการคุณภาพเพื่อสังคมตามแนวความคิด EMpower for Community โดยยึดมั่นบนพื้นฐาน "Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ" ซึ่งเป็นหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิตฯ ภายใต้ โครงการพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มูลนิธิฯ มุ่งพัฒนาชุมชนนำร่อง 2 ชุมชน ได้แก่ หมู่ที่ 8 บ้านนิคม และหมู่ที่ 14 บ้านสุขสบาย ในตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องซึ่งจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งยังส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในระบบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ให้ความรู้ และปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ดี สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีและปลอดภัยของเกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้ริเริ่มโครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชน OTOP เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนซึ่งเน้นการใช้ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยมูลนิธิฯ จะคัดเลือกผลิตภัณฑ์ดีเด่นจากกลุ่มผู้ผลิตชุมชนในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อนำมาเป็นของที่ระลึกของธนาคารไทยเครดิตฯ ต่อไป
"ธนาคารไทยเครดิตฯ ตระหนักเสมอมาถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและชุมชนท้องถิ่นจึงดำเนินโครงการฯ ผ่านมูลนิธิไทยเครดิตเพื่อตอบแทนสังคม เน้นเสริมพลังชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชนให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน" เขากล่าวเพิ่มเติม
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยเครดิตกล่าวว่า "การส่งเสริม พัฒนาด้านสังคมเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักของมูลนิธิไทยเครดิต เราจึงมุ่งส่งเสริมความรู้ และสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่สมาชิกชุมชนเพื่อสามารถต่อยอดธุรกิจให้เติบโต มีชีวิตทางการเงินที่ดี และลดปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมทั้งปลูกฝัง สร้างวินัยในการออมเงินเพื่ออนาคตให้แก่นักเรียน และเยาวชนในชุมชน
"ความรู้ด้านการเงินเป็นอีกหนึ่งทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกคน การมีทักษะด้านการเงินช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาด้านการเงินได้อย่างถูกต้อง รู้จักวิธีการจัดการรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ไม่ติดกับดักทางการเงิน ก่อหนี้สินจนเกินตัว ธนาคารไทยเครดิตฯ มุ่งส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินผ่านโครงการ "ตังค์โต Know-how" อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงิน สร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชน และเยาวชน รวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 คน
"ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของมูลนิธิไทยเครดิตในจังหวัดนครปฐม เราจะจัดการฝึกอบรมด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ สมาชิกชุมชน เกษตรกร และนักเรียน 4 โรงเรียนในตำบลลำเหย ซึ่งเนื้อหาการอบรมไม่ได้มีสอนในห้องเรียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำทักษะที่เรียนรู้ไปใช้พัฒนาตนเอง วางแผนการเงินส่วนบุคคล สร้างรายได้ให้ชุมชน มีภูมิคุ้มกันทางการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน" นายรอยย์กล่าว