นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.เพื่อรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้ติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทาน (ชป.) พร้อมทั้งประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและด้านเครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร ตลอดจนเฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ การดำเนินแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลอง ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับเข้าร่วมปฏิบัติการ Water Hammer Operation (กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) กับ ชป. เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้รุกขึ้นมามีผลต่อการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแลให้มากที่สุด
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สนน.ได้ประสานและติดตามการบริหารจัดการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้มาตามคลอง 13 ผ่านคลองแสนแสบ เข้าคลองลำปลาทิวผ่านมายังคลองประเวศบุรีรมย์พื้นที่เขตหนองจอก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม ซึ่งการดำเนินการในระยะเร่งด่วน กทม.ได้ขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนในระยะยาวได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำโดยการทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอาชีพทำการเกษตรและมักจะประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย คลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น กทม.ยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยหน่วยงาน หรือประชาชนที่สะดวกสามารถขอรับน้ำได้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้บริหารจัดการและเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2564 - 2570 ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 - 2570 โดยใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และภายหลังจากภัยสิ้นสุด เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มีน้อยที่สุด สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเนื่องจากขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จะเป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัยต่าง ๆ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit