กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023)" ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด "วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล" เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานฯ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล" โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า งานนี้เป็นการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาหรือสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในภูมิภาค
การจัดงานครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายวิจัย ในภาคใต้และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง วช. ม.วลัยลักษณ์ และจ.นครศรีธรรมราช ที่ร่วมการจัดงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ รมว.อว. ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ การศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์กับการพัฒนาภูมิภาคในยุคดิจิทัล ว่า "เราเป็นชาติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าทางการวิจัยจะนำไปสู่การตอบสนองการวิจัยที่จะช่วยยกระดับประเทศ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นดีมากไม่เป็นรองใคร อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน รวมถึงด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และการศึกษามรดกวัฒนธรรมอุษาคเนย์เพื่อนำมาพัฒนาภูมิภาค และภาคใต้เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย และมีจุดเด่นหลายอย่างที่เหมาะจะนำมาทำวิจัยเพื่อต่อยอด สุดท้ายขอให้มั่นใจในนักวิจัยของเรา และผลักดันงานวิจัยเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้ยั่งยืนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 เพื่อเร่งให้เกิดการขยายผลการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
"การขับเคลื่อนงานวิจัยถือเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญทั้งการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยในปีที่ผ่านมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก จากสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก Times Higher Education แล้ว ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามวล.เดินตามนโยบายของกระทรวง อว.และของรัฐบาลและมุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่นและระดับประเทศ" ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า การจัดงาน"มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค" จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก แล้วเวียนไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ ตามลำดับ เพื่อให้การนำเสนอผลงานวิจัยได้ขยายขอบเขตของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ สร้างโอกาสที่ดีให้แก่นักวิจัย ได้นำผลงานระดับภูมิภาคเข้าสู่ในระดับประเทศ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด "วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล" เป็นการยกระดับงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างโอกาสที่ดีในการถ่ายทอดการนำเสนอในส่วนของพื้นที่ ที่สำคัญจะเห็นภาพของผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์และการประดิษฐ์คิดค้น ทั้งจากนักวิจัย ผู้ประดิษฐ์คิดค้นและผู้ใช้ประโยชน์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายผล การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างความร่วมมือในเชิงเครือข่าย และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอว. สร้างโอกาสดีๆ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. นิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา นิทรรศการงานวิจัยของหน่วยงาน เครือข่ายการวิจัยในภูมิภาค นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ศูนย์วิจัยชุมชน แสดงอัตลักษณ์ของภูมิภาค : ภาคใต้ บูธขายอาหารสินค้าชุมชน ,กิจกรรมการประกวดแข่งขันแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิง พื้นที่: ภาคใต้ กิจกรรม Highlight Stage ตลอดจนกิจกรรมการประชุมและเสวนา 13 หัวข้อเรื่อง ตลอดการจัดงาน 3 วันอีกด้วย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit