ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยข้อมูลสำคัญด้านดิจิทัลโซลูชันสำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารและสถาบันการเงิน หลังเทรนด์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าธุรกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานเพื่อผลลัพธ์ที่คาดหวัง จากขีดความสามารถของเทคโนโลยี ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางการค้าต่าง ๆ ต้องได้รับการพัฒนาด้วยดิจิทัลโซลูชัน ที่มาพร้อมประสิทธิภาพและผลลัพธ์การทำงานที่ดียิ่งขึ้น พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วในระดับเรียลไทม์ รวมถึงต้องมีความปลอดภัยและความโปร่งใส โดยซิตี้แบงก์ในฐานะดิจิทัลแบงก์กิ้งชั้นนำพร้อมนำเสนอบริการดิจิทัลโซลูชันทางการเงินที่มีความหลากหลาย เพื่อยกระดับการให้บริการและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าภาคธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำ
มร. ซานดีฟ พาทิล หัวหน้าฝ่ายการบริการด้านการบริหารสภาพคล่องและสินทรัพย์ดิจิทัลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ กล่าวว่า "เทรนด์ธุรกรรมทางการเงินและธนาคารในอนาคตอันใกล้นี้ จะถูกเติมเต็มด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน (Blockchain) เครือข่ายข้อมูลอัจฉริยะ (Internet of Things) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และการชำระเงินด่วนหรือพร้อมเพย์ (Instant Payment) ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมพลิกโฉมโมเดลการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ให้มีการดำเนินงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลก ทำให้ความต้องการบริการธุรกรรมทางการเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศที่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงทีแบบเรียลไทม์และมีความปลอดภัยสูงจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นธนาคารและสถาบันทางการเงินจึงต้องพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบรับภูมิทัศน์ของธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป"
ทั้งนี้ซิตี้แบงก์เล็งเห็นว่าดิจิทัลโซลูชันที่ทำให้ภาคธุรกิจและธนาคารสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่รวดเร็วและปลอดภัย ประกอบไปด้วยเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบสำเนาที่สามารถเชื่อมต่อกันระหว่างฐานผู้ใช้งาน นอกจากจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเรียลไทม์ได้จากทุกพื้นที่ผ่านเครือข่ายดิจิทัลแล้ว ยังเป็นระบบที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสสูง จากการระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ ทั้งยังสามารถติดตามประวัติการเปลี่ยนแปลงข้อมูล รวมถึงป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจากอาชญากรไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเทคโนโลยีที่จะถูกหยิบยกมาใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเงินมากที่สุด นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) อย่างหน่วยเงินอิเล็กทรอกนิกส์สำหรับซื้อขายสินค้าและบริการ (Digital Currency) และโทเคน (Token) ที่แสดงสิทธิ์ในการร่วมลงทุนกับโครงการต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งโซลูชันจำเป็นสำหรับธุรกรรมเรียลไทม์ เนื่องจากมีความคล่องตัวสูงกว่าการใช้เงินสดและสินทรัพย์ทั่วไปเป็นอย่างมาก
"จากเทรนด์ความต้องการในธุรกรรมแบบเรียลไทม์ในปัจจุบัน ประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชันของเรา ธนาคารซิตี้แบงก์ได้พัฒนาระบบบล็อกเชนรวมถึงการให้บริการในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนทุกกิจกรรมทางการเงินของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการฝาก-ถอนโดยทั่วไป ไปจนถึงถึงการทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่รวดเร็ว โปร่งใส และปลอดภัยขั้นสูงสุด ล่าสุดซิตี้แบงก์เตรียมเปิดตัวบริการใหม่ "Citi Express" ระบบชำระเงินด่วนระหว่างประเทศ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนองค์กรที่ต้องการสร้างการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ คู่ไปกับการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์และธนาคารอื่น ๆ เพื่อพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องอีกด้วย" มร. ซานดีฟ กล่าว
มร. เดฟ บารัต หัวหน้าสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยว่า "ปัจจุบันเทรนด์การค้าโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเติบโตที่ชะลอตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 1.7% จาก 2.7% ในปี 2565 รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอันนำมาสู่ภาวะสินเชื่อตึงตัว ประกอบกับการยกระดับนโยบายกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดเรื่องความโปร่งใสทางการค้าและการฟอกเงิน ขณะเดียวกัน การมาถึงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้ทำให้ธุรกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาคการค้าในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และการเปลี่ยนผ่านการค้าสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization) เพื่อตอบสนองต่อมาตรการด้านความปลอดภัย และเพิ่มผลลัพธ์การดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งต้องอาศัยดิจิทัลโซลูชันทั้งสิ้น"
สำหรับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งสู่การเป็น Supply Chain 4.0 หรือการผสานรวมดาต้า เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการอัตโนมัติทั้งหมดสู่ห่วงโซ่อุปทาน ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งตัวอย่างของดิจิทัลโซลูชันที่จะเข้ามามีบทบาทใน Supply Chain 4.0 และพลิกโฉมภาคการค้า เช่น ระบบ OCR การประมวลผลข้อมูลที่สามารถใช้งานได้กับทั้งดวงตามนุษย์และเซนเซอร์ของจักรกล ระบบ Document Digitization แปลงสภาพเอกสารให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสะดวกต่อการตรวจสอบและจัดเก็บ หรือระบบ RFID ที่สามารถติดตามสินค้าและวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นผ่านการตรวจจับจากคลื่นวิทยุ เป็นต้น ขณะที่การเปลี่ยนผ่านการค้าสู่รูปแบบดิจิทัลแบบเต็มตัว เป็นการโยกย้ายการดำเนินธุรกิจทั้งหมดสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการส่งต่อและวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัท พร้อมยกระดับความปลอดภัยให้แก่องค์กรด้วยโครงสร้างระบบปฏิบัติการ ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารซิตี้แบงก์ได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่การค้าดิจิทัลแบบครบวงจรได้ โดยการนำร่องแพลตฟอร์ม "CitiDirect" ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลแบบ 100% นอกจากนี้ยังมีการใช้ดิจิทัลโซลูชันกับบริการอื่น ๆ ของธนาคารอย่างครอบคลุม เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ลื่นไหล รวดเร็วและเปี่ยมประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้าสถาบันทุกราย
ด้าน นางสาวนฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "ในบริบทของการค้าและการทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบัน แค่ความรวดเร็วอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้ให้บริการต้องสามารถอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงในทุกกิจกรรมให้แก่ผู้ใช้งาน ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่ครบครันและทันสมัย ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ตลอดจนเครือข่ายที่แข็งแกร่งครอบคลุมมากกว่า 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกธนาคารซิตี้แบงก์พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่พาทุกธุรกิจของลูกค้าและคู่ค้า เดินไปข้างหน้าเพื่อการบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และปลอดภัย"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้จัดสัมมนา "Citi Financial Institutions ASEAN Roadshow 2023" เปิดเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดและแนวทางการดำเนินธุรกิจสำหรับภาคการเงิน-การธนาคาร เพื่อสอดรับกับความต้องการธุรกรรมที่รวดเร็วและการเงินรูปแบบดิจิทัลของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน แก่กลุ่มลูกค้าธนาคารและสถาบันการเงิน ณ โรงแรม เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยหรือ www.citibank.co.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit