"เมล็ดงาม้อน" (Perilla seed) ในแวดวงอาหาร ปัจจุบันนิยมใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ "ซุปเปอร์ฟู้ด" (Superfood) เพื่อสุขภาพที่หลากหลาย จุดเด่นที่ทำให้ผู้บริโภค "ยกนิ้ว" ได้แก่ "สารสำคัญ" ซึ่งอุดมไปด้วย "กรดไขมัน" ที่ช่วยบำรุงสมอง และต้านอนุมูลอิสระ
ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยองค์ความรู้อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จาก "งานวิจัยคุณภาพ" ได้ทำให้ "เมล็ดงาม้อน" เพิ่มค่าทั้งในด้านการแพทย์ และการเกษตร จากการค้นพบฤทธิ์ต้านอักเสบก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่
รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้า "โครงการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาม้อนในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดลำไส้อักเสบในหนูทดลอง" ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ภายใต้โครงการ การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley ภาคกลาง โดยมหาวิทยาลัยมหิดล : เกษตรกรรมไทยเพื่อความมั่นคงด้านโภชนาการและสุขภาพ
โดยได้เปิดเผยถึงที่มาของงานวิจัยว่า เกิดจากการตระหนักถึงสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำให้ประชากรไทยและทั่วโลกเสียชีวิตในอันดับต้นๆ สาเหตุสำคัญเกิดจาก"ท้องผูกเรื้อรัง" ทำให้เกิด "การอักเสบ" ของลำไส้จนเกิดการเปลี่ยนสภาพ ส่งผลให้แบคทีเรียที่เกาะติดผนังลำไส้ "ขาดสมดุล" "เกิดเนื้องอก" จนกลายเป็น "โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่"
ผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดงาม้อนสกัดด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นจากโครงการวิจัย ได้นำไปสู่การค้นพบครั้งแรกในห้องปฏิบัติการที่ว่า น้ำมันสกัดจากเมล็ดงาม้อนมีฤทธิ์ "ต้านอนุมูลอิสระ" จากสารสำคัญต่างๆ เช่น "โทโคเฟอรอล" (Tocopherol) "โพลีฟีนอล" (Polyphenol) และยังอุดมไปด้วย "กรดไขมันโอเมก้า" (Omega) ถึง 3 ชนิด ได้แก่ 3, 6, 9 ในสัดส่วนที่ดีต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Omega 3 ที่มีสูงที่สุดในแหล่งที่มาจากพืช ซึ่งเมื่อนำมาทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่าสามารถ "ลดการอักเสบ" "ปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้" "เสริมสร้างความแข็งแรงของผนังลำไส้" ป้องกันการเกิด "ก้อนเนื้องอก" ในลำไส้ใหญ่ ก่อนพัฒนากลายเป็นมะเร็ง
สำหรับแนวทางการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ รองศาสตราจารย์ดร.เอกราช เกตวัลห์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคเกษตรของชาติ เนื่องจาก "งาม้อน" มากด้วยคุณประโยชน์ จึงอาจทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยการพัฒนาสู่การเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ที่สำคัญของประเทศได้ต่อไปในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปลูกงาม้อนได้ผลดี คาดว่าในอีกประมาณ 1 - 2 ปีข้างหน้า จะได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภท "น้ำมันแคปซูล" และยังได้มองไปถึงการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพอีกอาทิ "ครีมสลัดผสมน้ำมันสกัดงาม้อน" เป็นต้น
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ ยังได้แนะนำประชาชนทั่วไปถึง "วิธีบริโภคงาม้อนอย่างไรให้ได้ประโยชน์" ทิ้งท้าย หากอยู่ในรูปของ "เมล็ด" จะมีโปรตีนและแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย สามารถ "บริโภคเพื่อสุขภาพ" ประมาณ 3 - 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน แต่หากอยู่ในรูปของ"น้ำมัน" ควรรับประทานประมาณ 2 - 3 ช้อนโต๊ะต่อวันเป็นปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรรับประมาณมากเกินไป เนื่องจากอาจเกิด "การสะสม" ของไขมันและพลังงานเช่นเดียวกับน้ำมันชนิดอื่นๆ
ติดตามข่าวสารที่สนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit