ม.มหิดลมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอาหารยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและประเทศชาติ

15 Sep 2023

การใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอาหาร ยังคงมีความท้าทายในทุกยุคทุกสมัย เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับอาหารไว้ถึง 5 ส่วนงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันโภชนาการและที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 

ม.มหิดลมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอาหารยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและประเทศชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธีวรรณ อุดมศิลป์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า หลักสูตรฯ ได้เดินทางมาสู่วงรอบแห่งการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดในทุก5 ปี สู่การมุ่งเน้นผลิตนวัตกร-ผู้ประกอบการ ที่ถึงพร้อมด้วย 3 ทักษะพื้นฐานสำคัญ

เพื่อขยายขอบเขตสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG8 Decent Work and Economic Growth เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน SDG9 Industry, Innovation and Infrastructure เพื่อเสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และ SDG11 Sustainable Cities and Communities เพื่อการพัฒนาชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืน 

จากการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดให้มีการเรียนการสอนใน 3 รายวิชา ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญที่นักพัฒนาเทคโนโลยีอาหารทุกคนต้องเรียนรู้ได้แก่ พื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneur) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) และระบบการจัดส่งสินค้า (Logistic) 

และเพื่อการบรรลุ SDG12 Responsible Consumption & Production แห่งองค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งเน้นการผลิตบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหารมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี จึงได้กำหนดให้ใช้วัตถุดิบในการทดลองผลิตอาหารในหลักสูตรฯ โดยพิจารณาจากในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก 

นอกจากนี้ยังมีรายวิชาเลือกที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมกับการปรับปรุงหลักสูตรได้แก่ "Future Food" "Bakery Technology" "Beverage Technology" และ "Food Toxicology" ฯลฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ โดยเน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น รวมทั้งจัดการ-ใช้ประโยชน์จากของเสียเพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 ที่สำคัญ คณาจารย์ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายสาขาซึ่งสามารถแนะนำเทคโนโลยีต่างๆมาประยุกต์ใช้พัฒนาอาหารในหลักสูตรฯ ให้เกิดการต่อยอดพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ เช่น การใช้จุลินทรีย์ แป้ง โปรตีน และเนื้อสัตว์เป็นต้น 

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการยกระดับทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการอาหารมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานวิจัยต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารของชุมชน 

และยังได้ทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล มอบองค์ความรู้-แบ่งปันเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับชุมชนให้ได้รับคำปรึกษาและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ เพื่อการผลิต"ผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบ" อาทิเครื่องสเปรย์ดราย (Spray Dry) เพื่อการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรให้อยู่ในรูปแบบผง เป็นต้น 

มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเติบโตไปกับชุมชน ผลิตบัณฑิตด้วยความมุ่งหวังเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชาติ 

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

HTML::image(