บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ คว้ารางวัล "องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน" ระดับดีเด่น ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จัดโดย กรมคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตอกย้ำการเป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กรในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับความหลากหลายและเคารพความแตกต่าง โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบโล่รางวัลแก่ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น
นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล กล่าวว่า รางวัล "องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน" นับเป็นรางวัลสูงสุด ระดับประเทศด้านสิทธิมนุษยชน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล สนับสนุนการปฎิบัติที่ดีด้านแรงงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ซึ่งการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัท ตามหลักปรัชญา "3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน" คือการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ประชาชนและองค์กร เพื่อต่อยอดผลกระทบในเชิงบวกจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท ควบคู่ไปกับการป้องกัน ระงับ และบรรเทาผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น
"ซีพีเอฟมีการดำเนินธุรกิจรวม 17 ประเทศมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 100,000 คน มีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ ศาสนา แนวความคิด สถานะทางสังคม เป็นต้น โดยคำนึงรวมถึงชุมชนรอบข้าง คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค พันธมิตรธุรกิจ ภาคประชาสังคม บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรในการเคารพความแตกต่างหลากหลาย ปฏิบัติซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ปกป้องคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง สร้างการมีส่วนร่วม รวมทั้งต่อยอดความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านแผนการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต" นางสาวพิมลรัตน์กล่าว
ซีพีเอฟดำเนินโครงการและกิจกรรมหลากหลายเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคบนความแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างมีความสุข อาทิ การเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานใกล้เกษียณผ่านการพัฒนาทักษะและสร้างกำลังใจผ่านกิจกรรมชมรมต่าง ๆ การจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างมีจริยธรรม การจัดให้มีห้องให้นมบุตร การตั้งชมรม LGBTQ+ การพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จากการทำงานจริงและโครงการยกระดับความรู้ความสามารถอื่น ๆ โครงการบริหารการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เช่น เดินหน้าพลังงานสะอาดตลอดกระบวนการผลิต ยกเลิกใช้ถ่านหิน การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว การผลิตที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน การจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับโลกสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางในสังคม ให้สามารถพึ่งพาตนเองผ่านการจัดจ้างคนพิการทำงานสาธารณประโยชน์ในชุมชนหรือช่วยงานโรงเรียนที่อยู่ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในจำนวนที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรดำเนินโครงการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมประมง จังหวัดสงขลา ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติและครอบครัวเพื่อร่วมป้องกันการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รางวัล "องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน" จัดขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มอบให้กับ องค์กรภาครัฐ องค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์กรธุรกิจ องค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม และองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานตาม ภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่น ๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit