ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนคนไทยดูแลสุขภาพหัวใจ "USE KNOW ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน" เนื่องในวันหัวใจโลก ณ ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เขตหลักสี่ ด้วยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) กำหนดให้ทุกวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) และในปี 2566 นี้เชิญชวนรณรงค์ภายใต้แนวคิด USE KNOW เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยและทั่วโลก โดยมี ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องโรค "หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอันตรายเกินคาดเสี่ยงสมองขาดเลือด" แก่ประชาชน นำทีมโดย นพ.ดำรงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ และ พญ.ชนกพร ลักขณานุรักษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจฯ ดำเนินรายการโดย ดีเจ ดาด้า วรินดา ดำรงผล ภายในงานยังได้จัดบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และร่วมรณรงค์ใช้ใจรู้หัวใจตัวเองเพื่อที่จะสามารถดูแลหัวใจของตัวเองและคนที่เรารักได้ดีขึ้นกับนิทรรศการ "รู้จักหัวใจกันให้มากขึ้น" รู้ภารกิจ 4 ห้องหัวใจ รู้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อหัวใจจากสัญญาเตือนของร่างกายและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต รู้สมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดด้วยการเข้าถึงการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์และรู้จังหวะอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อวางแผนฟื้นฟูและการออกกำลังกายที่เหมาะสม และกิจกรรมฮิลใจสุดพิเศษ กับบทเพลงเพราะ ๆ จาก โตโต้-ธนเดช โอภาสธัญกร และ Workshop สอนการปลูกต้นไม้ และชวนผู้ร่วมกิจกรรมออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกันกับ พญ.พรภา เลิศอุตสาหกูล แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอดและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อให้บริการผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การรักษาทางห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ การผ่าตัดไฮบริดรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีศักยภาพในการทำหัตถการได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และหลอดเลือด ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายและพัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่เป้าหมายให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยในปี 2566 นี้ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ( Atrial Fibrillation ) หรือ AF เนื่องจากพบได้บ่อยทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากหัวใจห้องบนซ้ายเต้นผิดจังหวะที่มีความน่ากลัว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เป็นสาเหตุความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เพราะภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจะถูกส่งมาที่หัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ดังนั้น ถ้าลิ่มเลือดนี้ออกไปอุดในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในสมองก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ และการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา อีกทั้งภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ยังบั่นทอนและลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยอาการที่หลากหลาย โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มักพบในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน นอนกรน หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตเรื้อรัง และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น ด้วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จะมีส่วนน้อยมากที่รู้ตัวเพราะมีอาการชัดเจน เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่เพียงพอ ส่วนคนที่ไม่รู้และไม่ได้คัดกรองก็จะไม่รู้ตัว อาจรู้ตัวอีกทีตอนที่มีภาวะของโรครุนแรงแล้ว เช่น การเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการดูข้อมูลการเต้นของหัวใจในสมาร์ทวอช หากมีการแจ้งเตือนว่ามีภาวะ AF ก็ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือนี้ก็มีความน่าเชื่อถือถึง 80% และหมั่นวัดความดันด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งมีคุณสมบัติวัดอัตราการเต้นหัวใจด้วย
การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งภาวะนี้มีหลายชนิดทั้งชนิดชั่วคราว ชนิดเป็นนานและชนิดถาวร แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัวหรือที่รู้จักกันว่า ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งการให้ยาจะช่วยลดโอกาสเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิต ซึ่งจะต้องทานไปตลอดชีวิตและมีส่วนน้อยเท่านั้นที่หยุดยาได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มที่เป็นถาวร รวมทั้งมีนวัตกรรมการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุที่ทำให้เกิดความร้อน (Radiofrequency Ablation) เพื่อลดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย แต่การจี้ด้วยความร้อนก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เล็กน้อย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาใช้การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยความเย็น (Cryoablation) ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล อันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถลดอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ สามารถฟื้นฟูสภาพการบีบตัวของหัวใจในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ รวมถึงยังสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การใช้เทคนิคการจี้ไฟฟ้าด้วยความร้อนหรือเย็นนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย โดยศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เห็นถึงความสำคัญในการรักษากลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จึงได้พัฒนาศักยภาพการให้บริการด้วยวิธีการรักษาให้ได้เท่าเทียมระดับสากล รวมถึงยกระดับมาตรฐานการรักษาโดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพหัวใจที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการตรวจรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ณ ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมบริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษา รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และหลอดเลือด ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมปฏิบัติงาน โดยมีศักยภาพในการทำหัตถการได้อย่างครอบคลุม พร้อมยกระดับมาตรฐานการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้สู่ประชาชนในทุกมิติ "USE KNOW ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน" โดยมุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit