คณะนักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ร่วมผลักดันข้าวปลอดสารพิษจากการทำเกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์บ้านอ่าวเคียน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จนสามารถยื่นขอรับมาตรฐาน อย. สำเร็จเป็นเจ้าแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมยกระดับโรงสีข้าวชุมชนให้เข้าสู่กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อผลิตข้าวป้อนตลาดคนรักสุขภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมคณะนักวิจัย "ชุดโครงการการพัฒนาข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์จากข้าวกล้องคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมียม" ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวในโรงสีข้าวชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์บ้านอ่าวเคียน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ให้มีมาตรฐานการผลิตระดับสากล Good Manufacturing Practice (GMP) จนสามารถขอขึ้นทะเบียน อย.ข้าวได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์บ้านอ่าวเคียน เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่มีอาชีพทำนา กว่า 50 ครัวเรือนในพื้นที่อำเภอปากพนัง โดยเน้นการปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์และจัดตั้งเป็นโรงสีชุมชนขึ้นเพื่อลดต้นทุนการสีข้าว ซึ่งจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้กระบวนการผลิตข้าวของชุมชนในทุกขั้นตอนได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเก็บรักษาข้าว โดยใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาข้าวเปลือกและข้าวกล้องให้ปลอดภัยจากเชื้อราโดยใช้บรรจุภัณฑ์ควบคุมความชื้น และมีขั้นตอนการกำจัดไข่มอดโดยใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าจะได้บริโภคข้าวที่ปลอดภัยจากสารเคมี ลดการปนเปื้อนจากมอดแมลงและสารกำจัดเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยขณะนี้ทางกลุ่มมีการผลิตข้าวที่พร้อมขึ้นทะเบียน อย.แล้ว ได้แก่ ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยดและข้าวไรซ์เบอร์รี่
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน กล่าวอีกว่า จากการศึกษาวิจัยของนักวิจัยในศูนย์ความเป็นเลิศฯพบว่าข้าวกล้องสายพันธุ์ท้องถิ่นหลายสายพันธุ์เมื่อนำไปวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์ พบว่าข้าวท้องถิ่นหลายสายพันธุ์มีแนวโน้มที่สามารถนำมาผลิตเป็นข้าวกล้องเพื่อสุขภาพได้ เนื่องจากพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอยู่หลายชนิด อีกทั้งยังพบว่าในข้าวมีโปรตีนในปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าวไข่มดริ้น" ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีโปรตีนชนิดทนต่อการแปรรูปสูงถึง 10% เมื่อเทียบกับข้าวท้องถิ่นสุขภาพสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ให้โปรตีนอยู่ระหว่าง 3-7% เท่านั้น เมื่อนำไปหุงสุกหรือผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยโปรตีนในข้าวไข่มดริ้นที่ทนต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆ จึงสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เกลือแร่ พร้อมวิตามินหลากหลายชนิดที่ช่วยเรื่องสุขภาพ บำรุงระบบประสาทและสมอง โดยนักวิจัยคาดว่าจะผลักดันให้ชุมชนได้ปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้นและผลักดันให้ได้ขึ้นทะเบียน อย.เป็นสายพันธุ์ต่อไป เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพมุ่งสู่ตลาดพรีเมียมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวในตอนท้ายว่า "ขอขอบคุณคณะนักวิจัยโครงการการพัฒนาข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์จากข้าวกล้องคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมียม ม.วลัยลักษณ์ ประกอบด้วย ดร.กาญน์นัฐฐา ไชยศรียา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัปษร สัตยาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนง เอี่ยวศิริ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเมธี ส่งเสมอ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริวัจนา แก้วผนึก และขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผู้สนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้"
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ปลอดสารหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุชาติ เทียมดี หรือ คุณอารี กองทอง วิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์บ้านอ่าวเคียน หมู่ที่ 7 ต.ชะเมา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โทร. 089-455-3398
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit