มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ เปิดเวทีเสวนาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ทิศทางไปต่อของโนรา หลังขึ้นทะเบียนยูเนสโก

14 Mar 2023

มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ โดยหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยกิจกรรมการเสวนาและสาธิต "โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ"

มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ เปิดเวทีเสวนาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ทิศทางไปต่อของโนรา หลังขึ้นทะเบียนยูเนสโก

13 มีนาคม 2566 ณ โรงละคร สถาบันคึกฤทธิ์ได้จัด งานเสวนาโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ มีวิทยากรเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (วิทยากรด้านมรดกที่มีชีวิตขององค์การยูเนสโก) , ศ.พรรัตน์ ดำรุง (นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงและศิลปะพื้นบ้านไทย) และผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดงโนรา)

ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กล่าวว่า " หลังจากที่ยูเนสโกมีมติให้โนรา นาฏศิลป์ของไทย ได้รับการบรรจุอยู่ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โนรามีความเข้มแข็งมาก เดิมทีโนรามีการสืบทอดในวงกว้าง เนื่องจากโนรามีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือโนรา ไม่ใช่แค่ศิลปะพื้นบ้านแต่ยังเป็นพิธีกรรมที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น จึงทำให้ตัวโนราเองสามารถรักษาดุลยภาพระหว่างจารีตประเพณี กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่ได้ "

ทางด้าน ศ.พรรัตน์ ดำรุง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงและศิลปะพื้นบ้านไทย กล่าวเสริมว่า " การได้รับการยอมรับจากยูเนสโกถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ เราจะสืบสานและสืบทอดต่อไปอย่างไร ที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นว่าเราดูแลศิลปะที่อยู่ในเนื้อในตัวของศิลปินที่เป็นชาวบ้านได้ดี ถึงปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนมาเป็นทางการเรียนการสอนให้เข้าถึงได้ในวงกว้าง เราก็ทำได้ดี ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ ทำอย่างไรให้สิ่งนี้มันดีขึ้นกว่าเดิม หรือมันน่าจะเป็นที่ยอมรับ เมื่อคนรู้จักโนราดีขึ้นแล้ว ทำอย่างไรให้รู้สึกภาคภูมิใจในภูมิความรู้ ภูมิปัญญานี้ แล้วมองเห็นว่ามันยังมีค่าในชีวิต โนราไม่ใช่ศิลปะเฉพาะร้องรำ โนรายังมีรากเง้าที่ควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และถูกต้องตามขนบของโนราค่ะ"

ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๔ สาขาศิลปะการแสดงโนรา) กล่าวเปิดใจในฐานะคนที่เป็นครูโนรา

" พวกเราในฐานะศิลปินโนราทุกคนก็มีความภาคภูมิใจ ที่โนราของเราได้รับการยอมรับและสนับสนุนมากขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ ของไทย มีการขับเคลื่อนบทบาทการสืบทอดโนรา จะเห็นได้ว่าต่างคนต่างช่วยและต่างร่วมมือกัน และที่เห็นเป็นนิมิตรหมายเรื่องดีคือ ตัวศิลปินโนรารุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะมากทำให้วงการโนราคึกคัก สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ถึงโนรารุ่นใหม่คือ โนราปัจจุบันควรหาองค์ความรู้เรื่องของโนราให้มากที่สุด อย่างไม่ให้ผิดเพี้ยนหรือเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิม ถ้าจะประยุกต์ก็ประยุกต์อยู่ในกรอบ ส่วนศิลปินโนราที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์และรักษารูปแบบของโนราให้เข้มแข็ง ชัดเจน เป็นต้นแบบให้เลียนแบบได้ พวกเราถึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ในศิลปะโนราได้ครับ "

สถาบันคึกฤทธิ์ ได้สนับสนุนและส่งเสริมศิลปะการแสดงโนรามาเป็นเวลายาวนาน โดยในปี 2559 ได้ดำเนินการรวบรวมภาพถ่ายชุดท่ารำโนราของขุนอุปถัมภ์นรากร "พุ่มเทวา" จัดทำและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันคึกฤทธิ์ ต่อมาได้เชิญ อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์(ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 สาขาศิลปะการแสดงโนรา) มาแสดงและสาธิตท่ารำโนรา"คล้องหงส์" ที่เป็นการรำโนราโรงครู(เป็นพิธีกรรมของครูโนราที่มีรูปแบบเฉพาะ ผู้รำจะต้องเป็นโนราใหญ่ หรือ นายโรง) และจัดทำบันทึกการสาธิตครั้งนั้นเป็นวีดิทัศน์ ซึ่งสืบเนื่องสู่การทำฐานข้อมูลสำคัญของโนรา

หลังจบการเสวนาฯ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ได้สาธิตการร่ายรำโนราอย่างอ่อนช้อยสวยงามสมกับเจ้าของฉายา "ดำรงค์ศิลป์" ซึ่งหมายถึงผู้ที่ดำรงค์รักษาท่ารำ พร้อมเสียงร้องสำเนียงโนราดั้งเดิม ที่สะกดทุกสายตาคนดู และภายในงานยังมีสินค้าจากภาคใต้ให้ได้ ช้อป อาทิ งาน Handmade ลูกปัดหลากหลายสีของโนรา เสน่ห์ภูมิปัญญาของภาคใต้ พร้อมชิมอาหารพื้นเมืองภาคใต้ อย่าง ข้าวยำปักษ์ใต้ ขนมจีนน้ำยาปู เต้าคั่ว และขนมกวนหน้าขี้มัน ขนมลา ขนมหัวล้านนึ่ง ข้าวต้มสามเหลี่ยม มาให้ชิมกันอีกด้วย

เตรียมติดตามกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของไทยจากมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปตลอดทั้งปี 2566 สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรม ผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute Tiktok: [email protected] IG: @kukritinstitute

มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ เปิดเวทีเสวนาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ทิศทางไปต่อของโนรา หลังขึ้นทะเบียนยูเนสโก