นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมให้เกียรติบรรยายหัวข้อ "เป้าหมายการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในปี 2566" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 มีนาคม 2566 โดยมี นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์ในการดำเนินการประชุมเพื่อถอดบทเรียนการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดและเพื่อจัดทำแนวทางการลดมูลค่าหนี้ที่เกินกำหนดชำระของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด นักวิชาการพัฒนาชุมชน/พนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย สระแก้ว อ่างทอง และจังหวัดตราด โดยมีนายอิรยศ เอนก พัฒนาการจังหวัดตราดและนายปรีชา กิตติสัตยกุล เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน ให้การต้อนรับ
นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นกองทุนของสตรีเพื่อสตรีที่เป็นแหล่งทุนในการให้โอกาสสตรีได้มีอาชีพ มีรายได้ มีศักยภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนได้ให้ความสำคัญและหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นกองทุนหมุนเวียนจะมีเงินทุนหมุนเวียนให้กับสตรีทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์จากเงินของกองทุนตามวัตถุประสงค์ และต้องตระหนักถึงความมีวินัยในการใช้เงินประเภทเงินทุนหมุนเวียนและเงินอุดหนุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ความมีวินัยในการชำระคืนเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ความโปร่งใสของการดำเนินงานทั้งเจ้าหน้าที่และกลไกการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และความยั่งยืนของการเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ต้องเป็นกองทุนของสตรีเพื่อพี่น้องสตรีทั่วประเทศให้ได้รับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว ในขณะเดียวกันการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีเงินทุนหมุนเวียนกลับมาเป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับสตรีเพื่อจัดสรรและกระจายโอกาสการเข้าถึงต่อไปอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ต้องขอบคุณกลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน เช่น การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทย (การสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก") ตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการผลิตวัตถุดิบในการทอผ้า กลางน้ำ การนำเส้นไหม เส้นฝ้ายมาทักถอเป็นผืน และปลายน้ำ การแปรรูปผ่านการออกแบบและตัดเย็บเพื่อจำหน่าย ซึ่งช่วยให้การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยเป็นกระแสนิยมมากขึ้น เศรษฐกิจในชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" การขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
นายวิฑูรย์ กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า "เป้าหมายของการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในปี 2566 ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชนบนวิสัยทัศน์ "เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด เป็น 1 ใน 7 ภาคีเครือข่ายที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีบรรลุตามวัตถุประสงค์ประสงค์ของกองทุนฯ และช่วยขับเคลื่อนภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกท่านตระหนักในความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของตนเองเพราะทุกท่านเป็นพลังสตรีที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์แก่สตรีทั่วประเทศ"