ภาวะการมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากขึ้นปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการณ์ว่ามีคู่สมรสที่ประสบภาวะการมีบุตรยากถึง 48 ล้านคู่ทั่วโลก
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาโครงสร้างประชากร โดยมีอัตราเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในวาระแห่งชาติ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากภาวะการมีบุตรยากของกลุ่มประชากรที่มีคุณภาพและมีความพร้อมที่ต้องการมีบุตร แต่เนื่องจากหนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มแต่งงานช้าลง พอยิ่งอายุมากขึ้น เซลล์ไข่ของผู้หญิงก็จะยิ่งเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้มีลูกยากขึ้นหรือหากมีลูกอาจมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงได้
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตระหนักถึงปัญหาภาวะมีบุตรยาก และเห็นความสำคัญของการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ โดยโรงพยาบาลมีศูนย์การเจริญพันธุ์และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก หรือ Fertility Center and IVF Clinic ที่พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาเพื่อการมีบุตรด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างครบวงจร
รศ. นพ. นพดล สโรบล หัวหน้าศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีจำนวนคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่คลินิกขนาดเล็กจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ดังนั้นคนไข้ต้องคำนึงถึงความชำนาญของแพทย์ ทีมบุคลากรในการร่วมกันดูแลรักษา และห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะภาวะมีบุตรยากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล
"บำรุงราษฎร์มีจุดเด่นในเรื่องความพร้อมของทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่จะให้การดูแลคนไข้อย่างครบวงจรในที่เดียว โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเป็นโรคแทรกซ้อนหรือมีภาวะครรภ์เสี่ยง สามารถส่งเคสไปปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางภายในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ทันที และที่สำคัญ บำรุงราษฎร์มีทีมบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงมาก"
รศ. นพ. ชาติชัย ศรีสมบัติ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดด้วยกล้อง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ภาวะมีบุตรยากเกิดจากหลายสาเหตุ อายุของฝ่ายหญิงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีลูกยาก แต่อายุไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียว ยังมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย
"เราไม่ได้มุ่งให้ผู้ป่วยทำ IVF อย่างเดียว แต่จะหาสาเหตุอย่างละเอียดก่อน เพราะบางครั้งคนไข้อาจมีภาวะมดลูกที่มีความผิดปกติ ท่อน้ำไข่อุดตัน หรือมีซีสที่รังไข่ ซึ่งปัจจุบันพบว่าปัญหาดังกล่าวพบมากขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุน้อย แพทย์จะรักษาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดก่อน เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งทีมแพทย์บำรุงราษฎร์มีความเชี่ยวชาญ ทำให้ผลการรักษาดีฟื้นตัวเร็ว และยังช่วยเพิ่มผลสำเร็จของการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติหรือการทำเด็กหลอดแก้วด้วย ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์เน้นการให้คำแนะนำและรักษาโดยพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยคำนึงถึงข้อจำกัดทางด้านสุขภาพ โรคประจำตัวหรือโรคทางพันธุกรรมร่วมด้วย"
การทำเด็กหลอดแก้ว
บำรุงราษฎร์นำเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือ IVF (In-vitro Fertilization) เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนไข้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และมีทั้งคนไข้ไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการด้วยสัดส่วน 50:50 จึงมีโอกาสได้แก้ไขเคสยากๆ มามากมาย สั่งสมเป็นองค์ความรู้และความชำนาญ
พญ. ณหทัย ภัคธินันท์ สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการทำเด็กหลอดแก้วให้ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการ ซึ่งบำรุงราษฎร์มีเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการที่มีความสะอาดและได้มาตรฐาน JCI ประกอบกับมีเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน Preimplantation Genetic Testing (PGT) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ร่วมกับการรักษาด้วยกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) โดยการสุ่มดูดเซลล์ของตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วมาตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนที่จะทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้สถิติการทำ IVF ของบำรุงราษฎร์ในปี พ.ศ. 2563 ถึง 2565 มีอัตราความสำเร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 70-90% ในทุกกลุ่มอายุ และ 90% ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
"ในกรณีที่การทำเด็กหลอดแก้วแล้วตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี อาจมีภาวะเบาหวาน ความดันได้ง่าย หรือโรคประจำตัวอื่น ซึ่งก่อให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงในช่วงทารกอยู่ในครรภ์ ทีมสูตินรีแพทย์ของบำรุงราษฎร์จะเป็นทีมหลักที่ดูแล จนกระทั่งอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป จากนั้นทีมบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด NICU จะเข้าไปเป็นทีมเสริมเพื่อช่วยวางแผนให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิดหลังทารกคลอด"
การตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์
ผศ. นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและเวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่คู่สมรสตัดสินใจมีบุตร และแนะนำให้คู่สมรสทั้งที่มีประวัติและไม่มีประวัติโรคกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดในครอบครัวตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ เพราะบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นพาหะหรือที่เราเรียกว่ายีนแฝงโดยไม่รู้ตัว
ในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีเด็กหลอดแก้ว บำรุงราษฎร์ยังมีการตรวจโครโมโซมหรือระดับยีนของตัวอ่อนเพื่อค้นหาความผิดปกติด้านโครโมโซมหรือระดับยีน เช่น โรคจากยีนด้อย โรคที่ถ่ายทอดทางโครโมโซมเอกซ์ รวมไปถึงโรคดาวน์ซินโดรม โดยบางครั้งเราใช้ข้อมูลจากการตรวจคัดกรองของคู่สามีภรรยา เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุด ป้องกันโรคร้ายที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกได้ โดยสามารถตรวจได้มากกว่า 600 ยีน รวมถึงโรคที่พบได้บ่อยได้คนไทย เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งจะแตกต่างจากการตรวจที่นิยมเลือกตรวจเฉพาะเป็นโรคๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันการตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ มีความสะดวกมากขึ้น โดยสามารถตรวจด้วยการเจาะเลือดหรือเก็บตัวอย่างน้ำลาย ประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะทราบผล นอกจากนี้เรายังมีเทคโนโลยี Cell-Free DNA โดยใช้วิธีเจาะเลือดแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกแทนการเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก รวมไปถึงการแท้งได้ด้วย
การฝากไข่และการวางแผนมีบุตร
สำหรับคนที่วางแผนจะมีลูกในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่แต่งงาน หรือยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ตอนนี้ บำรุงราษฎร์เพิ่มทางเลือกในการรับฝากไข่ เพื่อเก็บรักษาเซลล์ไข่เอาไว้ ในอุณหภูมิที่ต่ำเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการตั้งครรภ์ในอนาคต
ผศ. พญ. ชนัญญา ตันติธรรม สูติแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยกระบวนการฝากไข่และแช่แข็งไข่เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน โดยคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความพร้อมของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ รวมถึงความพร้อมของทีมห้องผ่าตัด (OR) ในกรณีที่เกิด complication ซึ่งบำรุงราษฎร์คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญสูงสุด ทั้งนี้แนะนำว่าควรเก็บไข่ให้ได้ 10-15 ใบในกรณีที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เพื่อที่จะได้มีโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง แต่หากอายุมากขึ้นอาจจำเป็นต้องได้ไข่มากขึ้น และการเก็บไข่เพียง 1 รอบ อาจยังไม่สามารถได้จำนวนไข่ตามเป้าหมายในบางราย หลังจากเราเก็บไข่แล้วเราละลายมันออกมาใช้ โอกาสที่ไข่จะอยู่รอดมีประมาณ 90% และมีโอกาสปฏิสนธิกับอสุจิ สำเร็จประมาณ 70-80% สุดท้ายแล้วโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จและมีบุตรจะอยู่ที่ประมาณ 30-65% โดยช่วงวัยที่เหมาะกับการฝากไข่ อยู่ในช่วงอายุประมาณ 32-37 ปี เพราะหากอายุมากขึ้น จะส่งผลให้จำนวนไข่ลดน้อยลง รวมถึงไข่ที่มีคุณภาพก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
สุดท้ายนี้ รศ. นพ. ชาติชัย กล่าวสรุปว่า "ทุกวันนี้มีคู่สมรสหลายคู่ที่มีปัญหามีบุตรยากเข้ามาปรึกษา ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลค่อนข้างง่าย แต่อาจยังไม่ครบถ้วนชัดเจน ดังนั้นการเปิดบ้าน 'ศูนย์เจริญพันธุ์และคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก' ของบำรุงราษฎร์ในครั้งนี้ จะทำให้เห็นถึงโครงสร้างการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ว่ามีขั้นตอนการตรวจประเมิน และการรักษาเบื้องต้นอย่างไร รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ และสร้างความมั่นใจให้คนไข้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ จนกระทั่งลูกที่เกิดขึ้นมาจะต้องแข็งแรงปลอดภัย"
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit