พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดจันทบุรี ติดตามการปฏิบัติราชการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาแนวทาง คัดเลือกรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ทำกินของพี่น้องประชาชน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับ และนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม นายสุวรรณ เจริญพร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วัดเขาตาหน่วย ตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลทั้งระบบ โดยกำหนดนโยบายการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อวางรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมกับศักยภาพสภาพปัญหาและการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายให้ศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพร้อมเริ่มก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล มาตั้งแต่ ปี 2533 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนริมชายฝั่ง ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานราชการในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง ถึงแม้ว่าหลังมรสุมตะกอนทรายอาจกลับมาแต่บ้านเรือนของประชาชน ที่ดินทำกิน เส้นทางสัญจรพังเสียหายไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมได้ ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทุกปี กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันพิจารณาเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับสภาพพื้นที่
สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ผลการศึกษาพบว่า มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ย 2.46 เมตรต่อปี ผลวิเคราะห์ความเปราะบางต่อการกัดเซาะชายฝั่ง (CEVI) มีความเปราะบางในระดับสูง และจากการสำรวจพื้นที่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2565 พบว่าชายฝั่งบริเวณนี้ประสบปัญหาการกัดเซาะคันบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีโครงสร้างคันบ่อหลายแห่งเสียหาย และยังพบแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นมีสภาพชำรุดเสียหาย โดยประชาชนเจ้าของที่ดิน ที่อยู่อาศัย รีสอร์ทและร้านอาหารบริเวณพื้นที่ชายฝั่งบางส่วน ได้มีความพยายามในการดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการทิ้งหินกันคลื่นในที่ดินตนเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถปกป้องชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งชายฝั่งถัดเข้ามาอีกจะเป็นแนวถนนเฉลิมบูรพาชลทิต หรือทางหลวงชนบทสาย รย.4036 ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของประชาชนในพื้นที่และของนักท่องเที่ยว หากแนวป้องกันของภาคเอกชนที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ได้เกิดพังทลายเสียหายลง อาจจะส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะรุกคืบเข้ามายังแนวถนนได้
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาดังกล่าวกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนิน "โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง" เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลเกาะเปริด ด้วยการศึกษา สำรวจและออกแบบ พร้อมทั้งจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการ ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันคิด ร่วมกำหนดพื้นที่ ร่วมเสนอแนวทาง และร่วมคัดเลือกรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม โดยได้กำหนดแนวทางและรูปแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ร่วมกัน ด้วยการผสมผสานระหว่างรูปแบบโครงสร้างแข็งทางวิศวกรรมและการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพและการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมกับการพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ กรมฯ จะเสนอโครงการฯ ต่อ "คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่" ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีคณะกรรมการที่มาจากนักวิชาการ ภาคประชาชน NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาโครงการต่อไป อย่างไรก็ตามโครงการศึกษาและก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามปณิธาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ของกระทรวงมหาดไทย แล้วยังต่อยอดเรื่องการเสริมสร้างทัศนียภาพของชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม รวมถึงเพิ่มศักยภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้อย่างเท่าเทียม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit