ด้วยสำนึกในสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกแต่ธรรมชาติของป่าต่างจากธรรมชาติของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบและบริหารจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า "ช้างป่า" จัดเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการขยายพื้นที่ของมนุษย์ ด้วยความเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และต้องการผืนป่าขนาดใหญ่เพื่อการดำรงชีวิต ทำให้มักพบปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้าน จนทำให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อลดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างมนุษย์และช้างป่าอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงธรรมชาติของช้างป่าว่า แต่ละเชือกกินอาหารในปริมาณที่มากถึง 250 - 300 กิโลกรัมต่อวัน จึงส่งผลกระทบสูงเมื่อเข้าบุกรุกพื้นที่เกษตรของชุมชน
จากการลงพื้นที่วิจัยในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทยนำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะ"ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตร จำนวน 2 ชิ้น
นวัตกรรมชิ้นแรก ได้แก่ การจัดทำแบบจำลองการเคลื่อนที่ของช้าง เพื่อหาแนวทางที่ปลอดภัยระหว่างช้างป่าและชุมชนเพื่อประโยชน์สำหรับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดูแลช้างป่า และพื้นที่อนุรักษ์
ส่วนนวัตกรรมอีกชิ้นเป็นการวางระบบเซนเซอร์ซึ่งใช้แสงเลเซอร์เพื่อการแจ้งเตือนในระยะปลอดภัย 50 - 100 เมตรผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์ก่อนการนำไปใช้จริง
โดยงานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "Diversity" และจะได้ต่อยอดศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ทำให้ช้างป่าต้องออกมาสู่ชุมชน เพื่อการสร้างมาตรการป้องกันดูแลที่ครอบคลุม และเพิ่มความมั่นใจให้กับชุมชน
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบการเที่ยวป่า รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ แนะนำว่าไม่ควรอยู่นอกเขตพื้นที่ปลอดภัย โดยปกติช้างป่าจะไม่ทำร้ายมนุษย์ถ้าไม่มีอาการตกใจ หูกาง-หางชี้ และหากต้องเผชิญกับช้างป่า ไม่ควรเข้าใกล้ หรือให้อาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับมนุษย์
ขอเพียงมนุษย์และช้างป่าอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ซึ่งข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ช้างป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของช้างป่า จึงเป็นการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศไปด้วยในขณะเดียวกัน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit