นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ บริษัท เป๊บซี่โคล่า (ไทย) เทรดดิ่ง จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด สหกรณ์มันฝรั่งไชยปราการ-ฝาง จำกัด รวมถึงหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จัดงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) "มันฝรั่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมมันฝรั่งในประเทศไทยด้วยมันฝรั่งสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสนับสนุนโดย สถาบันพัฒนาชนบทเกาหลี (The Rural Development Administration: RDA) สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยความร่วมมือการวิจัยพัฒนาพันธุ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหัวพันธุ์และมันฝรั่ง สำหรับการแปรรูปและการบริโภค ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ฟู้ดส์ จำกัด สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด และ สหกรณ์มันฝรั่งไชยปราการ-ฝาง จำกัด
นอกจากนี้ ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านพันธุ์มันฝรั่งของ RDA และกรมวิชาการเกษตร เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งและมันฝรั่งสำหรับแปรรูปที่ได้จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกร และภาคเอกชน และเพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รับความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิต การแปรรูป และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมันฝรั่ง อันก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยกำหนดจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี "มันฝรั่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่
ภายในการจัดงานครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้ผ่านการเสวนาในหัวข้อ "มันฝรั่งพืชอนาคตไกลพัฒนาเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน" เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพมันฝรั่ง เช่น ระบบน้ำหยด ฯ การป้องกันโรคและแมลงในการปลูกมันฝรั่ง การใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคแมลง การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ระบบการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งปลอดโรค การบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรในการปลูกมันฝรั่ง การทำเกษตรแปลงใหญ่ หลักและวิธีการสหกรณ์ในการจัดหาหัวพันธุ์มันฝรั่งให้แก่สมาชิก เป็นต้น รวมทั้งเกษตรกรผู้สนใจยังจะได้รับความรู้ด้านการยกระดับมาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม (GAP) สำหรับมันฝรั่ง เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตมันฝรั่ง รวมทั้งเทคโนโลยีในการใช้โดรนฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ นอกเหนือจากหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นที่ร่วมจัดงานแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ หน่วยงานในท้องถิ่นร่วมจัดนิทรรศการ และแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมถึงจำหน่ายผลผลิตและสินค้าเกษตรมากมายหลากหลายชนิด
"ไฮไลท์ที่สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้คือ ผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสกับการจัดทำแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันฝรั่งและหัวพันธุ์มันฝรั่ง ตลอดจนขั้นตอนการแปรรูปเป็นมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ รวมถึง สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นกับเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิตมันฝรั่ง รวมทั้งนักวิชาการเกษตรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตมันฝรั่งแต่ละด้าน พร้อมตอบข้อซักถามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิตมันฝรั่ง เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้สนใจนำความรู้ในการผลิตมันฝรั่งกลับไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรต่อไป จึงขอเชิญชวนเกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานได้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่" อธิบดีรมวิชาการเกษตร กล่าว
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit